วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การปลูกทุเรียน


การปลูก

ฤดูปลูก
ถ้ามีการจัดระบบการให้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดูแลให้น้ำกับ
ต้นทุเรียนได้สม่ำเสมอช่วงหลังปลูก ควรปลูกตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน
แต่ถ้าหากจัดระบบน้ำไม่ทันหรือยังไม่อาจดูแลเรื่องน้ำได้ ควรปลูกต้นฤดูฝน
เตรียมพื้นที่การปลูกทุเรียน
1. ไถ ขุดตอ ขุดรากไม้เก่าออกจากแปลง
- พื้นที่ดอนไม่มีปัญหาน้ำท่วมขัง : ไถกำจัดวัชพืชอย่างเดียว
- พื้นที่ดอน มีแอ่งที่ลุ่มน้ำขัง : ไถปรับสภาพพื้นที่ให้เรียบ
- พื้นที่ลุ่มหรือต่ำมีน้ำท่วมขัง : ทำทางระบายน้ำหรือยกร่อง
2. กำหนดระยะปลูก
ระยะระหว่างต้นและระยะระหว่างแถวด้านละ 9 เมตร ปลูกได้ไร่ละ 20 ต้น การทำสวนขนาดใหญ่ควรขยายระยะระหว่างแถวให้กว้างขึ้นเพื่อสะดวกต่อการนำเครื่องจักรกลต่าง ๆ ไปทำงานในระหว่างแถว
3. วางแนวและปักไม้ตามระยะปลูกที่กำหนด วางแนวกำหนดแถวปลูกโดยคำนึงว่า แนวปลูกขวางความ ลาดเทของพื้นที่ หรืออาจกำหนดในแนวตั้งฉากกับถนน หรือกำหนด แถวปลูกไปในแนวทิศตะวันออก ตก และถ้ามีการจัดวางระบบน้ำ ต้องพิจารณาแนวทางจัดวางท่อในสวนด้วย จากนั้นจึงปักไม้ตามระยะที่กำหนด เพื่อขุดหลุมปลูกต่อไป
วิธีการปลูกทุเรียนทำได้ 2 ลักษณะ
1. วิธีการขุดหลุมปลูก เหมาะกับสวนที่ไม่มีการวางระบบน้ำ
2. วิธีการปลูกแบบไม่ขุดหลุม เหมาะกับสวนที่จัดวางระบบน้ำมีข้อดีคือ ประหยัดแรงงานค่าใช้จ่ายในการขุดหลุม ดินระบายน้ำและอากาศดี รากเจริญเร็ว

การปลูกทุเรียนแบบขุดหลุมปลูก
1. ขุดหลุมมีขนาดกว้างยาว และลึกด้านละ 50 เซนติเมตร
2. ผสมปุ๋ยคอกเก่าประมาณ 5 กิโลกรัม และปุ๋ยหินฟอสเฟต ครึ่งกิโลกรัม คลุกเคล้ากับดินที่ขุดขึ้นมา กลบกลับคืนไปในหลุมสูง ประมาณ 2 ใน 3 ของหลุม
3. เตรียมต้นกล้าที่แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่เป็นโรค ไม่มีแมลง
ทำลาย และมีใบยอดคู่สุดท้ายแก่ ระบบรากแผ่กระจายดี ไม่ขดม้วนงอ
อยู่ก้นถุง
4. ใช้มีดกรีดก้นถุงออก ถ้าพบรากขดงออยู่ก้นถุงให้ตัดออก
5. วางถุงต้นกล้าที่ตัดก้นถุงออกแล้ว วางลงตรงกลางหลุม จัดให้ตรงแนวกับต้นอื่นๆพร้อมทั้งปรับระดับสูงต่ำของต้นทุเรียนให้ รอยต่อระหว่างรากกับลำต้นหรือระดับดินปากถุงเดิมสูงกว่าระดับดิน ปากหลุมเล็กน้อย
6. ใช้มีดกรีดด้านข้างถุงจากล่างขึ้นบนทั้งสองด้าน
7. ดึงถุงพลาสติกออก ระมัดระวังอย่าให้ดินในถุงแตก
8. กลบดินที่เหลือลงไปในหลุมอย่ากลบดินสูงถึงรอยเสียบยอด หรือรอยทาบ
9. ปักไม้หลักข้างต้นทุเรียนที่ปลูกแล้ว พร้อมทั้งผูกเชือกยึดไว้ เพื่อป้องกันลมพัดโยก
10. กดดินบริเวณโคนต้น หาวัสดุคลุมโคนต้นแล้วรดน้ำตามให้โชก
11. จัดทำร่มเงาให้ต้นทุเรียนที่เพิ่งปลูก โดยใช้ทางมะพร้าว ทางจาก แผงหญ้าคา ทางระกำหรือตาข่ายพรางแสง เมื่อทุเรียนตั้งตัว
ดีแล้วควรปลดออก หรืออาจปลูกไม้เพื่อให้ร่มเงา เช่น กล้วยก็จะช่วย
เป็นร่มเงาและเพิ่มความชื้นในสวนทุเรียนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะ
ในช่วงฤดูแล้งที่อากาศแห้ง และมีแสงแดดจัด
12. แกะผ้าพลาสติกที่พันรอยเสียบยอดหรือทาบออกเมื่อปลูกไปแล้วประมาณ 1-2 เดือน

การปลูกทุเรียนแบบไม่ขุดหลุม
1. โรยปุ๋ยหินฟอสเฟต 500 กรัม หรือประมาณหนึ่งกระป๋องนม ครึ่ง ตรงตำแหน่งที่ต้องการปลูกกลบดินบาง ๆ
2. นำต้นพันธุ์มาวาง แล้วถากดินข้าง ๆ ขึ้นมาพูนกลบ แต่ถ้า หากเป็นดินร่วนปนทราย ดินทราย ดินจะไม่เกาะตัวกัน ควรใช้วิธี ขุดหลุมปลูก หรือจะใช้วิธีดัดแปลง
3. วิธีดัดแปลง คือ นำหน้าดินจากแหล่งอื่นมากองตรงตำแหน่ง ที่จะปลูก กองดินควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เมตร สูง 15 เซนติเมตร แหวกกลางกองดินโรยปุ๋ยหินฟอสเฟตในช่องที่แหวกไว้
กลบดินบาง ๆ วางต้นพันธุ์ดีลงตรงช่องที่แหวกไว้กลบดินทับ 4. การแกะถุงออก ต้องระมัดระวังอย่าให้ดินแตก อาจทำได้โดย
กรีดก้นถุงออกก่อน แล้วนำไปวางในตำแหน่งที่ปลูก กรีดถุงพลาสติก ให้ขาดจากล่างขึ้นบน แล้วจึงค่อย ๆ ดึงถุงพลาสติกออกเบา ๆ
5. ระมัดระวังอย่ากลบดินให้สูงถึงรอยเสียบยอดหรือรอยทาบ
6. หาวัสดุคลุมโคน และจัดทำร่มเงาให้กับต้นทุเรียนเหมือน การปลูกโดยวิธีขุดหลุม

การปฏิบัติดูแลรักษาทุเรียน

- การปฏิบัติดูแลทุเรียนในช่วงก่อนให้ผลผลิต
เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ทุเรียนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และให้
ผลผลิตได้เร็วขึ้น
1. ในระหว่างรอทุเรียนให้ผลผลิต ในช่วงแรกควรปลูกพืชแซม
เสริมรายได้ โดยเลือกพืชให้ตรงกับความต้องการของตลาด
2. เมื่อตรวจพบทุเรียนตายหลังปลูกให้ทำการปลูกซ่อม
3. การให้น้ำ ช่วงเวลาหลังจากปลูกจะตรงกับฤดูฝน ถ้ามีฝน
ตกหนักควรทำทางระบายน้ำ และตรวจดูบริเวณหลุมปลูก ถ้าดินยุบตัว
เป็นแอ่งมีน้ำขังต้องพูนดินเพิ่ม ถ้าฝนทิ้งช่วง ควรรดน้ำให้ดินมีความชื้น
อยู่เสมอ
ในปีต่อ ๆ ไป ควรดูแลรดน้ำให้ต้นไม้ผลอย่างสม่ำเสมอ และ
ในช่วงฤดูแล้งควรใช้วัสดุคลุมดิน เพื่อช่วยรักษาความชื้นในดิน เช่น
ฟางข้าว หญ้าแห้ง
4. การตัดแต่งกิ่ง
ปีที่ 1-2 ไม่ควรตัดแต่ง ปล่อยให้ต้นทุเรียนเจริญเติบโต อย่างเต็มที่
ปีต่อ ๆ ไป ตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งแขนง กิ่งกระโดงในทรงพุ่ม กิ่งเป็นโรคออก เลี้ยงกิ่งแขนงที่สมบูรณ์ที่อยู่ในแนวขนานกับพื้น (กิ่ง มุมกว้าง) ไว้ในปริมาณและทิศทางเหมาะสม โดยให้กิ่งล่างสุดอยู่สูงจาก พื้นดินประมาณ 80-100 เซนติเมตร
5. การป้องกันกำจัด ช่วงแตกใบอ่อน : ควรป้องกันกำจัดโรคใบติด เพลี้ยไก่แจ้
เพลี้ยไฟ ไรแดง
ช่วงฤดูฝน:ป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าและควบคุม
วัชพืชโดยการปลูกพืชคลุมดินและอาจจะกำจัดโดยใช้แรงงานขุด ถาก
ถอน ตัด พยายามหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีเพราะต้นทุเรียนยังเล็กอยู่
ละอองสารเคมีอาจจะไปทำลายต้นทุเรียน
6. การทำร่มเงา
ในช่วงฤดูแล้ง แสงแดดจัดมาก ทำให้ทุเรียนใบไหม้ได้ ควร
ทำร่มเงาให้
7. การใส่ปุ๋ยควรทำดังนี้
- ใส่ปุ๋ยหลังจากตัดแต่งกิ่ง
- ใส่ปุ๋ยพร้อมกับการทำโคน คือถากวัชพืชบริเวณใต้ทรงพุ่ม
หว่านปุ๋ย และพรวนดินนอกชายพุ่มขึ้นมากลบใต้ทรงพุ่ม ให้มีลักษณะ
เป็นหลังเต่าและขยายขนาดของเนินดินให้กว้างขึ้นตามขนาดของ
ทรงพุ่มหรือจะใส่ปุ๋ยโดยวิธีใช้ไม้ปลายแหลมแทงดินเป็นรูหยอดปุ๋ยใส่
และปิดหลุมเป็นระยะให้ทั่วบริเวณใต้ทรงพุ่มวิธีหลังนี้แม้จะเปลือง
แรงงานแต่ช่วยลดการสูญเสียของปุ๋ยจากการระเหย หรือถูกน้ำชะพา
- หว่านปุ๋ยคอกก่อนและตามด้วยปุ๋ยเคมี
- ควรใส่ปุ๋ยในบริเวณใต้ทรงพุ่มโดยรอบ และให้ห่างจาก
โคนต้นประมาณ 20-30 เซนติเมตรขึ้นไป ขึ้นกับขนาดทรงพุ่ม
ปริมาณและเวลาใส่ปุ๋ย
ปีที่ 1 :
ใส่ปุ๋ยและทำโคน 4 ครั้ง (เดือนเว้นเดือน)
ครั้งที่ 1-3 ใส่ปุ๋ยคอก 5 กิโลกรัมต่อต้น (ประมาณ 1 ปีบ)
ครั้งที่ 4 - ใส่ปุ๋ยคอก 5 กิโลกรัมต่อต้น (ประมาณ 1 ปีบ)
-ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณ
150-200 กรัมต่อต้น (ครึ่งกระป๋องนมข้น)
ปีต่อ ๆ ไป (ระยะที่ทุเรียนยังไม่ให้ผลผลิต) :
ใส่ปุ๋ยและทำโคน 2 ครั้ง (ต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน)
ครั้งที่ 1 (ต้นฝน) ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16
ประมาณครึ่งถึง 3 กิโลกรัมต่อต้น
ครั้งที่ 2 (ปลายฝน) ใส่ปุ๋ยคอก 15-50 กิโลกรัมต่อต้น
(ประมาณ 3-10 ปีบ)
ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16
ประมาณครึ่งถึง 3 กิโลกรัมต่อต้น
ปริมาณปุ๋ยเคมีที่ใส่ในแต่ละครั้งขึ้นกับขนาดของทรงพุ่ม
โดยยึดหลักว่าวัดจากโคนต้นมายังชายพุ่มเป็นเมตรได้เท่าไร คือจำนวนปุ๋ยเคมี
ที่ใส่เป็นกิโลกรัม เช่น
ระยะจากโคนต้นถึงชายพุ่ม 1 เมตร ใส่ปุ๋ย 1 กิโลกรัม
ระยะจากโคนต้นถึงชายพุ่ม 2 เมตร ใส่ปุ๋ย 2 กิโลกรัม
ระยะจากโคนต้นถึงชายพุ่ม 2 เมตรครึ่ง ใส่ปุ๋ย 2 กิโลกรัมครึ่ง



ขอบคุณเนื้อหาจาก http://www.sisaket.go.th/WEB_ldd/Plant/Page10.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น