วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การปลูกอ้อยและวิธีการเพิ่มผลผลิตอ้อย



                 
                พูดเรื่องมันสำปะหลังมาก็นานนมแล้ว วันนี้พักสมองเปลี่ยนมาคุยกันเรืองอ้อยบ้างดีกว่านะค่ะ ส่วนใหญ่แล้วคนที่ปลูกอ้อย ก็ มักจะสนใจปลูกมันสำปะหลังด้วย หลักการง่ายๆ โดยการสังเกตุส่วนตัวของปริมเองนะค่ะ ว่าถ้าให้เลือกระหว่างปลูกอ้อย หรือ มันสำปะหลังดี ก่อนอื่นเราต้อง มาดูที่ดินของเราก่อนว่า ถ้าเป็นดินเหนียว หรือร่วนปนดินลูกรัง แน่นอนว่าไม่ควรปลูกมันสำปะหลัง เพราะมันแทงหัวยาก ทำให้หัวเล็ก ถ้าจะปลูกจริงๆ ก็ใช้การยกร่องสูงๆๆๆ เข้ามาช่วยค่ะ แต่ถ้าเป็นดินเหนียว , ร่วนทราย , ทราย , ลูกรัง แบบนี้เอาพื่้นที่ไปปลูกอ้อยดีกว่า
 
มาดูระยะการเจริญเติบโตของอ้อยกันก่อนมีดังนี้นะค่ะ
 

1.ระยะงอก ประมาณ 2-3 สัปดาห์ 
2.ระยะแตกกอ อายุประมาณ 1.5 เดือนเป็นต้นไป มากที่สุดอยู่ระหว่าง 2.5-4 เดือน หน่อที่แตกออกมาทั้งหมดในระยะแตกกอนี้จะเหลือเพียงประมาณครึ่งหนึ่งเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว
3.ระยะย่างปล้อง มีการเพิ่มขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางและความยาวของปล้องอย่างรวดเร็ว อายุประมาณ 3-4 เดือน จนถึงอายุประมาณ 7-8 เดือน หลังจากนั้นการเจริญเติบโตจะมีช้าลง มีการสะสมน้ำตาลเพิ่มขึ้น
4.ระยะแก่และสุก อัตราการเจริญเติบโตช้าลงมาก เมื่อการเจริญเติบโตช้าลง การสะสมน้ำตาลจึงมีมากขึ้น 
 
(ขอขอบคุณข้อมูลจากอาจารย์  กฤชนนทร์ นะค่ะ)


เกริ่นมาซะยาว เอาละ มาว่ากันถึงวิธีการปลูกอ้อยกัน

1. ฤดูการปลูกอ้อย มีสองฤดูปลูกคือ
1.1 การปลูกอ้อยข้ามแล้ง คือการปลูกในช่วงเดือน ต.ค.- ธ.ค. ข้อดีของการปลูกช่วงนี้คือ ไม่ค่อยมีหญ้า และอ้อยได้จำนวนอายุหลายเดือนก่อนตัดส่งโรงงาน แต่ข้อเสียก็คือ งอกช้า เวลาปลูกต้องหยอดน้ำไปพร้อมท่อนพันธุ์ด้วยถึงจะดี
1.2 การปลูกอ้อยฤดูฝน คือการ ปลูกอ้อยหน้า ก.พ.-พ.ค. ช่วงนี้อ้อยจะโตเร็ว งอกเร็ว แต่อ้อยจะมีอายุน้อย ผลผลิตไม่เต็มที่ เพราะต้องตัดส่งโรงงานในช่วงเปิดหีบ  ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว โรงงานจะเปิดหีบประมาณเดือน พ.ย-เม.ย. ซึ่งแล้วแต่พื้นที่ แล้วแต่โรงงานว่าจะเปิดหรือปิดช่วงไหน เราไม่สามารถกำหนดเวลาตัดเองได้

ดังนั้นปริมจึงแนะนำให้ปลูกอ้อยข้ามแล้ง จะทำให้อ้อยมีอายุเลย 10 เดือนกำลังโตเต็มที่ น้ำหนักดี ให้ค่า CCS สูง

2. การเตรียมดิน
ขั้นตอนนี้สำคัญมากสำหรับการปลูกอ้อย ถ้าดูแลในขบวนการนี้ดีๆ อ้อยจะสามารถเก็บไว้ได้หลายตอ และให้ผลผลิตสูง การปลูกอ้อยถ้าละเลยขั้นตอนนี้ในปีถัดๆ ไปผลผลิตจะลดลงมากเก็บได้อย่างเก่งไม่เกิน 2 ตอ การไถต้องทำดินให้ร่วนซุยที่สุด และไถให้ลึก โดยการใช้ ริบเปอร์ ระเบิดดินดาน การไถถึงชั้นดินดานทำให้มีละอองน้ำจากชั้นดินดานระเหยมาล่อเลี้ยงรากอ้อยได้ เพราะว่ารากอ้อยจะลงลึกกว่า 50 ซม. ดูรูปเครื่องระเบิดดินดานจากรูปด้านล่างค่ะ


ความจริงมีต้วที่ยาวกว่านี้นะค่ะ สำหรับริปเปอร์ตัวนี้ ยังสั้นอยู่ ดูรูปด้านล่างประกอบอีกที แต่ไม่ค่อยชัดนะค่ะ



นึกหน้าตาของมันออกอยู่น้อ เป็นงวงยาวๆ แบบนี้ละค่ะ ใช้ไถระเบิดดินดาน ทำให้ดินกักเก็บความชื้นได้ดี ดินร่วนซุยดีด้วย

3. การปลูกอ้อยร่องคู่
แต่ก่อนเกษตรกรนิยมปลูกอ้อยแบบร่องเดี่ยว แม้แต่เครื่องจักรยังเป็นแบบร่องเดี่ยวอยู่เลย ที่แนะนำให้ปลูกคือ ปลูกแบบร่องคู่ ทำให้จำนวนประชากรของอ้อยเพิ่มขึ้น เมื่อจำนวนประชากรอ้อยเพิ่มขึ้น น้ำหนักต่อไร่ของอ้อยก็เพิ่มจำนวนได้ค่ะ ดูรูปจากรูปด้านล่างนะค่ะ

จากรูปจะเห็นได้ว่า ระยะห่างระหว่างร่องแต่ละร่อง คือ 120 ซม. แล้วระยะห่างของแถวสองแถวในร่องคือ 50 ซม. ดูจากรูปจะเข้าใจง่ายค่ะ ถ้าเวลาซื้อรถปลูก ก็จะรถปลูกแบบร่องคู่แบบนี้มาขายแล้วไม่ต้องห่วงค่ะ ^__^ ไม่ได้ลำบากอะไร

แต่ว่าขั้นตอนทีสำคัญต้องอย่าลืมรองพื้นด้วยปุ๋ยอินทรีย์นะค่ะ ที่ปริมแนะนำคือ ปุ๋ยวันเดอร์สูตรสีเขียว เป็นอินทรีย์+กรดอะมิโน ทำให้อ้อยมามีความอวบเขียว แตกยอกเร็ว การใช้ก็ไร่ละกระสอบ วันเดอร์เขียวตามรูปภาพด้านล่าง

ถ้าใครไม่อยากใช้ของปริมก็ สามารถใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ยี่ห้ออื่นได้นะค่ะ แต่การรองพื้นขอให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์เลือกที่ดีๆ หน่อยอย่าเอาถูกมากจนมีแต่ดินไม่มีอินทรีย์วัตถุเลย จะปลุกอ้อยทั้งทีอย่าขี้เหนียวปุ๋ยรองพื้นนะคะ แต่ไม่แนะให้เป็นเคมีรองพื้นนะ เพราะว่าอ้อยยังไม่งอกเลย ปุ๋ยเคมีมันละลายหมดแล้วกินได้ไม่ถึง 15 วันยังไม่ได้งอกเลยหมดฤทธิ์ซะแล้ว ถ้ามีขี้เค้ก ขี้วัว ขี้ควาย นั่นแหละค่ะของดี ใส่ลงไปเลยเป็นตันได้ยิ่งดี ขึ้นตอนนี้ห้ามละเลยถ้าอยากเก็บอ้อยไว้ได้หลายๆ ตอ อย่าขี้เหนียวนะขึ้นตอนนี้ ถ้าไม่มีตังส์ซื้อปุ๋ยจริงๆ ให้อัดปุ๋ยรองพื้นนี่แหละ ดีที่สุดค่ะ แต่ถ้าใส่ตามช่วงระยะเวลาการเจริญเติบโตของมันจะดีกว่านะค่ะ ^__^

แต่ยังก่อน ยังไม่จบ ตอนนี้มีการปลูกอ้อยแบบร่อง 4 ด้วยนะค่ะ เพิ่มจำนวนประชากรอ้อยได้มากขึ้นไปอีก แต่การปลูกร่อง 4 ปริมยังไม่แนะนำ รอดูฤดูกาลเก็บเกี่ยวปีนี้ก่อนให้รู้ว่าได้ผลผลิตกี่ตันต่อไร่ จะสู้ร่องคู่ได้ใหม ปริมเห็นลูกค้า บริษัท ขุนพลกรุ๊ป เขาปลูก เลยขออนุญาติเก็บรูปในแปลงของพี่เค้ามาโชว์ให้ดูนะค่ะ

นี่เครื่องปลูกร่อง 4 นะค่ะ

 งอกระยะแรกๆ สังเกตุเห็นใหมค่ะว่าเป็นร่อง 4 นะ 


นี่งอกได้ประมาณ 2 เดือน ดูความหนาแน่นของประชากรอ้อย

4. การจัดการะบบน้ำ 
อ้อยมีความต้องการปริมาณน้ำในแต่ละช่วงไม่เท่ากัน ระยะงอกต้องการความชื้้นที่พอเหมาะน้ำไม่ขัง ให้มีความชื้นนิดหน่อยยอดอ้อยก็สามารถแตกยอดขึ้นมาได้ แต่ในระยะ 1- 3 เดือนนี้ อ้อยต้องการน้ำในปริมาณที่มากและต้องไม่ขาดน้ำในช่วงนี้ ดังนั้นในช่วงนี้ถ้าอ้อยขาดน้ำจะชงักการเจริญเติบโต ต้นแคระแกรน ที่สำคัญคนที่ปลูกอ้อยข้ามแล้งจะเจอปัญหาอ้อยขาดน้ำ ในช่วงนี้แนะนำให้ใช้วิธีการปล่อยน้ำลาด หรือให้ฉีดพ่นทางใบให้กับอ้อย ได้ทั้งน้ำได้ทั้งปุ๋ย ทำให้อ้อยโตเร็วหนี้หญ้าได้ ปุ๋ยน้ำที่ปริมแนะนำให้ใช้ในช่วงนี้คือ ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ นาโนอะมิโน + บูตเตอร์สีเงิน จะทำให้อ้อยโตเร็วต้อนรับช่วงย่างปล้องได้เร็ว และบูตเตอร์เงินจะทำให้ลำต้นของอ้อยแข็่งแรง ป้องกันโรคหนอนกอเจาะได้ รูปของปุ๋ยน้ำและบูตเตอร์ดังด้านล่าง 

อันนี้ใช้ผสมน้ำฉีดพ่นทางใบนะค่ะ ในอัตราส่วน 50-100 CC ต่อน้ำ 20 ลิตร สำหรับใครที่ไม่อยากใช้ก็ไม่ว่ากันค่ะ จะราดน้ำเฉยๆ หรือฉีดน้ำเฉยๆ ก็ได้ค่ะ แต่ให้ปุ๋ยไปด้วยจะทำให้อ้อยโตเร็วมาก เข้าสู่ช่วงย่างปล้องเร็วมาก 

5. การใส่ปุ๋ยให้ถูกช่วงเวลา 
ปุ๋ยทุกอย่างดีหมด ถ้าเรารู้จักใช้ให้ถูกกับเวลาและการเจริญเติบโตของพืช เช่นในระยะ จะเข้าสู่ช่องแตกกอ ต้องเส้นการสร้างใบ และสร้างเนื้อเยื่อ คือช่วงเวลา 2-4 เดือน สำหรับปุ๋ยเม็ด ปริมแนะนำสูตรอินทรีย์เคมี เฟอร์เฟคเอส 16-3-3 อันนี้เอาไว้สร้างใบและต้น ให้โตเร็วหนีหญ้า รูปด้านล่างค่ะ

ปุ๋ยสูตรนี้บำรุงต้น ทำให้ต้นเขียวเร็ว และถ้าเป็นอินทรีย์+เคมีจะทำให้อ้อยเขียวนานมาก มีเคมีในปริมาณที่เหมาะสมทำให้เขียวเร็ว และพอเคมีหมดฤทธิ์เม็ดอินทรีย์ก็ทำงานต่อเนื่องกันทำให้เพียงพอต่อความต้องการธาตุอาหารของอ้อย ถ้าใช้อินทรีย์อย่างเดียวในช่างนี้ปริมไม่แนะนำนะค่ะ มันช้าเกินไปสำหรับความต้องการธาตุอาหารของอ้อย ถ้าใช้เคมีก็จะหมดเร็วเกิน เคมีมีฤทธิ์อยู่ได้ไม่เกิน 15 วันก็หมดละ หรือถ้าไม่ใช้ของปริมอยากผสมปุ๋ยเองก็เอาปุ๋ยอินทรีย์ผสมกับ ยูเรีย 40 -0-0 ก็ใช้ได้ค่ะ แต่ระวังผสมให้ได้สัดส่วนที่พอเหมาะนะค่ะ ถ้ายูเรียมากเกินต้นจะเขียวอวบ ๆ แต่ไม่แข็งแร็งหนอกกอเข้าเจาะลำต้นได้ง่าย ถ้าอยากใช้การฉีดพ่นทางในระยะย่างปล้องแล้ว ขอแนะนำ ไอโอเอ็น จุลินทรีย์ ตรึงไนโตรเจนในอากาศ ในอากาศที่วนเวียนอยู่รอบตัวเรา มีไนโตรเจนเต็มไปหมด แต่อ้อยไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ถ้าฉีดยาไบโอเอ็นอ้อยตัวนี้ มันจะทำหน้าที่ดึงไนโตรเจนทีมีอยู่ในอากาศมาใช้ได้ในอ้อย ประโยชน์ของมันคือ 
คุณประโยชน์
1. เพิ่มการสร้าง และตรึงไนโตรเจน (Biological Nitrogen Fixation; BNF) จากอากาศ
   ให้กับต้นอ้อย
2. เพิ่มการย่อยสลาย การปลดปล่อย และการเปลี่ยนรูปธาตุอาหารในดิน
3. ช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ให้กับอ้อย

แต่ตัวนี้มีข้อกำจัดคือ เนื่องจากมันเป็นจุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิต ห้ามใช้คู่กับพวกสารเคมี ยาฆ่าหญ้าอะไร
พวกนี้ ไม่งั้นจุลินทรีย์มันตายหมด ก็เสียดายปุ๋ย เสียดายเงินค่ะ รูปดังด้านล่างนะค่ะ 

6. อยากให้อ้อยได้น้ำหนัก
ค่าCCS ( Commercial Cane Sugar ) เพิ่มขึ้นต้องเน้นในช่วงระยะเดือนที่ 5-6 ถ้าจะใส่ปุ๋ยให้ใส่สูตรที่มีตัวหลังสูง อ้อยจะได้น้ำหนักและค่าน้ำตาลพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้น ดูจากตารางเปรียบเทียบระยะการเจริญเติบโตในช่วงระยะแก่สุก ต้องหลัง 8 เดือนนะค่ะ อ้อยจะมีความหวานเพิ่มขึ้นสำหรับช่วงนี้แนะนำให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมี เฟอร์เฟคพี สูตร 5-3-14 จะทำให้อ้อยหวานและได้น้ำหนักดูจากรูปนะค่ะ
ถ้าไม่อยากใช้ของปริมก็แนะนำให้เอาแม่ปุ๋ย 0-0-60 ผสมกับปุ๋ยอินทรีย์หว่าน ในระหว่างเดือนที่ 5 หรือ 6 เข้ากลางร่องเลย ก็โอเคค่ะที่สำคัญ ใส่ปุ๋ญให้ถูกช่วงของการเจริญเติบโต ดูแลอย่าให้ขาดน้ำ แค่นี้ก็โอเคแล้วค่ะ ไม่ยากอย่างที่คิด ปลูกอ้อยทั้งทีอย่าปล่อยตามบุญตามกรรม ทุกอย่างที่เราลงมือทำมันคือต้นทุนทั้งหมด ทำแล้วต้องมีกำไรคำว่ากำไรของปริมคือ ต้นทุนที่ลงไป หัก ค่าใช้จ่ายแล้วไม่ขาดทุน ก็คือกำไร จะกำไรมาก กำไรน้อยก็แล้วแต่เราบริหารนะค่ะ 


ขอบคุณข้อมูลดีจาก  http://prim-farmkaset.blogspot.com/2011/05/blog-post_25.html

การปลูกมันสำปะหลัง

ปลูกมันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตสูง...ควรทำอย่างไร
ดร. โอภาษ บุญเส็ง
ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6
ตีพิมพ์ในเทคโนโลยีชาวบ้าน มติชนบท วันที่ 1 มีนาคม 2551

สถานการณ์ในปัจจุบัน
การผลิตหัวสดมันสำปะหลังภายในประเทศที่ผ่านมาในอดีตผลิตได้สูงสุดปีละประมาณ 20 ล้านตันจากพื้นที่ปลูกเกือบ 7 ล้านไร่ การผลิตเอทานอลจากหัวมันสำปะหลัง ทำให้เกิดกระแสการตื่นตัวทั้งภาครัฐบาลและเอกชนว่า จะไม่สามารถหาผลผลิตหัวสดมารองรับโรงงานผลิตเอทานอลได้อย่างแน่นอน จากการให้สัมภาษณ์ของนายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทยว่าในปี 2550 รัฐบาลได้อนุมัติให้มีการสร้างโรงงานผลิตเอทานอลไปแล้ว 49 โรง กำลังการผลิตรวมกันทั้งสิ้น 11 ล้านลิตรต่อวัน มีความต้องการผลผลิตหัวสด 15 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้มีการนำข้าวโพดไปผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนในประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป ทำให้ความต้องการมันสำปะหลังเพื่อไปแทนข้าวโพดในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มากขึ้น ประกอบกับสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความต้องการมันเส้นไปผลิตเอทานอลมากเป็นพิเศษด้วย ดังนั้นตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไปความต้องการผลผลิตหัวสดเพื่อให้พอรองรับภาคอุตสาหกรรมเอทานอล แป้ง และมันเส้นจะต้องสูงกว่า 35 ล้านตันต่อปีอย่างแน่นอน ผู้เขียนในฐานะที่ทำงานวิจัยมันสำปะหลังมาเกือบ 30 ปี อดคิดเป็นห่วงในเรื่องนี้ไม่ได้ หวังว่านักวิจัยมันสำปะหลังทุกท่านคงต้องช่วยกันค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ มาเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นโดยเฉลี่ย 5 ตันต่อไร่ เพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวที่เติบโตขึ้นอย่างมโหฬารในอนาคตอันใกล้นี้ นอกจากนี้นักวิจัยต้องช่วยกันจับผิดและชี้แจงข่าวการโฆษณาชวนเชื่อนวัตกรรมการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังที่เกินความเป็นจริง ซึ่งสร้างความสับสนและความเสียหายอย่างรุนแรงให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง 

การปลูกมันสำปะหลังให้ได้ 30 ตันต่อไร่ตามกระแสของปราชญ์ชาวบ้าน...ทำได้จริงหรือ
มีกระแสข่าวลือในหมู่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ว่ามีปราชญ์ชาวบ้านในเขตจังหวัดชัยภูมิ จัดอบรมเกษตรกรโครงการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังให้ได้ 30 ตันต่อไร่ด้วยนวัตกรรมที่คิดขึ้นมาเอง โดย เน้นหลักการใหญ่ 2 ประการ เพื่อสร้างจุดขายของปราชญ์ชาวบ้านผู้นี้ คือ เทคนิคการใช้ท่อนพันธุ์ปลูก และการใช้ปุ๋ยชีวภาพจากจุลินทรีย์ 12 ตระกูล คือ photosynthetic bacteria, yeasts, actinomysys, streptococcus, streptomysys, lactobacillus, aspergillus, bacillus, clostridium, pecdiococcus, asomonus และ sacaromicroosys ใช้เป็นหัวเชื้อในการย่อยสลายอินทรียวัตถุในกระบวนการผลิตปุ๋ยชีวภาพ โดย วัสดุที่ใช้ผลิตปุ๋ยชีวภาพมีโดโลไมท์ มูลโค มูลไก่ไข่ มูลไก่เนื้อผสมแกลบ มูลค้างคาว และขี้เค้กหรือตะกอนดินที่ได้จากโรงงานน้ำตาล อย่างละ 500 กิโลกรัม พร้อมรำละเอียดอีก 90 กิโลกรัม ใช้เวลาหมักนาน 15 วัน จะได้ปุ๋ยชีวภาพจากจุลินทรีย์ จำนวน 3 ตัน ใช้เป็นปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 
กล่าวโดยรวมในเรื่องปุ๋ยชีวภาพจากจุลินทรีย์ที่โฆษณาดังกล่าวนี้ ไม่มีอะไรเป็นพิเศษไปจากปุ๋ยชีวภาพที่แนะนำโดยกรมพัฒนาที่ดิน หรือปุ๋ยชีวภาพที่บริษัทเอกชนผลิตขึ้นมาเพื่อจำหน่าย โดย มีสารโดโลไมท์เป็นแหล่งให้ธาตุแคลเซียม แมกนีเซียม และปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้เป็นกลาง ส่วนมูลโค มูลไก่ไข่ และมูลไก่เนื้อผสมแกลบเป็นแหล่งให้ไนโตรเจนและปรับโครงสร้างดินให้ร่วนขึ้น สำหรับมูลค้างคาวเป็นแหล่งให้ฟอสฟอรัสและไนโตรเจน ขี้เค้กเป็นแหล่งให้โพแทสเซียม ส่วนรำละเอียดเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรทให้กับจุลินทรีย์ใช้ในการย่อยสลายวัสดุทั้งหมดเพื่อให้เป็นปุ๋ยชีวภาพ ดังนั้น การใช้ปุ๋ยชีวภาพดังกล่าวในอัตรา 2 ตันต่อไร่ จึงประกอบไปด้วยธาตุอาหารหลักอย่างไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ส่วนธาตุอาหารรองก็ประกอบไปด้วยแคลเซียมและแมกนีเซียม มีปูนโดโลไมด์ช่วยปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้เป็นกลาง เรียกได้ว่าปรับสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินให้เหมาะสมต่อการปลูกมันสำปะหลังซึ่งเหมือนกับกรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในอัตรา 2 ตันต่อไร่ 
เทคนิคการใช้ท่อนพันธุ์ปลูก โดย สร้างจุดขายของการปลูกมันสำปะหลังให้ออกหัวแบบคอนโค แบบคอนโดสามเหลี่ยม และแบบคอนโคพวงร้อย เพื่อเรียกร้องความสนใจต่อเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังให้คิดว่าวิธีการปลูกแบบดังกล่าวเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์ สามารถนำพาไปสู่การเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังให้ได้ 30 ตันต่อไร่ได้ ผู้เขียนได้ศึกษารายละเอียดวิธีการปลูกทั้งสามแบบ โดย แบบที่ 1 การปลูกให้ออกหัวแบบคอนโค ใช้ท่อนพันธุ์ส่วนที่เป็นลำต้นตัดแบบโคนตรง ปกติเกษตรกรมักตัดแบบโคนเฉียง 45 องศา โดย เฉือนเอาตาข้างท่อนพันธุ์จากด้านล่างออก 7 ตา เพื่อหวังให้ได้หัวที่เกิดจากฐานรอบโคน 9 หัว และข้างลำต้นที่เฉือนเอาตาออกอีก 7 หัว เรียงเป็นชั้นคล้ายคอนโคมิเนียมในเมืองหลวง ส่วนแบบที่ 2 การปลูกให้ออกหัวแบบคอนโคสามเหลี่ยม ใช้ท่อนพันธุ์ส่วนที่เป็นลำต้นที่มีกิ่งสามง่ามแรก (primary branch) ติดอยู่ด้วยปลูก โดย เฉือนเอาตาข้างท่อนพันธุ์จากด้านล่างออก 7 ตา และเฉือนเอาตาข้างส่วนที่เป็นกิ่งออกกิ่งละ 2 ตา เพื่อหวังให้ได้หัวที่เกิดจากตาข้างกิ่งเพิ่มขึ้นอีก 6 หัว เรียงเป็นชั้นคล้ายคอนโคมิเนียมสามเหลี่ยม และแบบที่ 3 การปลูกให้ออกหัวแบบคอนโคพวงร้อย ใช้ท่อนพันธุ์คล้ายกับการปลูกแบบคอนโดสามเหลี่ยม แต่เป็นลำต้นที่มีกิ่งสามง่ามที่สอง (secondary branch) ติดอยู่ด้วยปลูก โดย มีความเชื่อว่าส่วนที่เป็นกิ่งสามง่ามที่สองอยู่ใกล้ยอด เป็นกิ่งที่อ่อนกว่ากิ่งสามง่ามแรกของลำต้นจะเจริญเติบโตได้เร็วและให้ผลผลิตดีกว่า การปลูกทั้งสามแบบใช้ท่อนปลูกยาว 40 เซนติเมตร ปลูกปักตรง โดย ให้ส่วนที่เฉือนตาออกทั้งส่วนที่อยู่ด้านข้างลำต้นและกิ่งอยู่ใต้ดิน 
ในทางพฤกษศาสตร์นั้นรากฝอย (adventitious roots) ของท่อนปลูกมันสำปะหลังจะเกิดขึ้นที่เพอริไซเคิล (pericycle) อยู่บริเวณรอยแผลระหว่างเปลือกกับเนื้อไม้ของท่อนปลูก นอกจากนี้รากฝอยยังเกิดที่ตาของท่อนปลูกอีกด้วย รากฝอยที่เกิดจากรอยแผลที่โคนของท่อนปลูกมีมากกว่า 50 ราก ส่วนรากฝอยที่เกิดจากรอยแผลที่ตามีน้อยมากเมื่อเปรียบกับรอยแผลที่โคนของท่อนปลูก ดังนั้น การที่งอกฝอยจะพัฒนาเป็นหัวสะสมแป้งเป็นจำนวนมากน้อยขึ้นอยู่กับการเคลื่อนย้ายน้ำตาลและสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะความแน่นของดินที่ใช้ปลูก รากฝอยที่เกิดจากรอยแผลที่โคนท่อนปลูกจะพัฒนาเป็นหัวสะสมอาหารได้ดีกว่ารากฝอยที่เกิดจากรอยแผลที่ตา หัวที่เกิดจากรอยแผลที่ตาจะมีขนาดเล็กกว่าหัวที่เกิดจากรอยแผลที่โคนท่อนปลูกมาก และเสี่ยงที่จะเป็นหัวที่ลอยโผ่พื้นดิน เป็นหัวแคระแกรนไม่โต มีแป้งน้อย ในกรณีที่เกิดปัญหาหัวเน่ารากฝอยที่เหลือสามารถพัฒนาเป็นหัวสะสมอาหารขึ้นมาใหม่ได้อีก ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องเฉือนเอาตาข้างของลำต้นและตาข้างของกิ่งสามง่ามออกเพื่อทำให้เกิดหัวสะสมอาหารเพิ่มขึ้นมาอีก ซึ่งเป็นการยากต่อการปฏิบัติและการปลูกในสภาพไร่ที่มีความชื้นในดินเป็นปัจจัยจำกัดต่อการงอกของท่อนปลูกมันสำปะหลัง รากฝอยที่เกิดจากรอยแผลที่โคนของท่อนปลูกก็มีมากเพียงพอที่จะพัฒนาเป็นหัวสะสมอาหารได้ นอกจากนี้หัวที่เกิดจากโคนท่อนปลูกจะออกรอบโคน สะดวกต่อการเก็บเกี่ยว และหัวขาดยากเมื่อมีการขุดถอนหัวมันสำปะหลัง 
การให้ผลผลิตของมันสำปะหลังนั้นขึ้นอยู่กับพันธุ์และสภาพแวดล้อม ในแง่ของพันธุ์ควรเลือกพันธุ์ให้เหมาะกับพื้นที่ที่ปลูก ส่วนสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยหลักในการกำหนดผลผลิตของมันสำปะหลังก็คือความอุดมสมบูรณ์ของดินและความเป็นประโยชน์ของน้ำในดิน ถึงแม้ว่าดินจะมีธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรองที่จำเป็นเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของมันสำปะหลังแล้ว ดินต้องมีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำได้ดีด้วย มีความสามารถให้น้ำส่วนเกินในฤดูฝนซึมผ่านลงใต้ดินได้ดี เพื่อไม่ให้เกิดหัวเน่าเพราะน้ำท่วมขัง และไม่มีชั้นดินดานปิดกั้นการใช้น้ำจากใต้ดินของมันสำปะหลังในช่วงฤดูแล้ง หมายความว่า ดินต้องมีคุณสมบัติทางกายภาพเพื่อช่วยส่งเสริมให้ใช้น้ำได้ดีทั้งในฤดูฝนและแล้ง โดย ตลอดการเจริญเติบโตของมันสำปะหลังจะมีช่วงชะงักการเจริญเติบโตในช่วงฤดูแล้ง ประมาณ 5 เดือน คือ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม ผลผลิตไม่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ดังนั้น การส่งเสริมให้มันสำปะหลังได้ใช้น้ำในช่วงนี้ เพื่อให้มันสำปะหลังมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีผลทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด 
ผู้เขียนมีประสบการณ์ในการทำงานวิจัยมันสำปะหลังมาเกือบ 30 ปี พบว่า ข้อมูลที่ได้จากการทดลองผลผลิตมันสำปะหลังที่อายุ 12 เดือนภายใต้ประชากรหรือมีจำนวนต้น 1,600 ต้นต่อไร่หรือระยะปลูก 1x1 เมตร โดย แปลงทดลองขนาดเล็กได้ผลผลิตสูงสุด 14 ตันต่อไร่โดยคำนวณจากพื้นที่ 96 ตารางเมตร แปลงทดลองขนาดใหญ่ได้ผลผลิตสูงสุด 12 ตันต่อไร่โดยคำนวณจากพื้นที่ 1 ไร่จริง ถ้ามีการใช้แบบจำลองมันสำปะหลังโปรแกรม DSAT เพื่อคำนวณหาศักยภาพในการให้ผลผลิตของมันสำปะหลังโดยป้อนข้อมูลพันธุ์ดี การใช้ปัจจัยการผลผลิตที่เหมาะสม จัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง โปรแกรมคำนวณออกมาได้ผลผลิตสูงสุด 20 ตันต่อไร่ เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม 2550 ผู้เขียนและคณะได้มีโอกาสไปติดตามแปลงสาธิตโครงการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังให้ได้ 30 ตันต่อไร่ โดย ทำตามวิธีการที่ปราชญ์ชาวบ้านโฆษณาไว้ ณ มูลนิธิพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ตำบลห้วยบ่ง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา สุ่มเก็บเกี่ยวขึ้นมาแล้ว ทุกคนคาดว่าผลผลิตที่อายุ 12 เดือน ไม่น่าถึง 4 ตันต่อไร่ แสดงให้เห็นว่า ผลผลิตแปรปรวนตามความอุดมสมบูรณ์ของดินและความเป็นประโยชน์ของน้ำในดินของพื้นที่นั้นเป็นหลัก ซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควรในการปรับปรุงดินเพื่อให้มีสมรรถนะในการให้ผลิตสูง ไม่ใช่แค่ใช้เทคนิคการปลูกแบบคอนโดและใช้ปุ๋ยจุลินทรีย์ 12 ตระกูลดังที่โฆษณาไว้ แล้วได้ผลผลิต 30 ตันต่อไร่ในทุกพื้นที่ภายในปีเดียว นี่คือ การโฆษณาชวนเชื่อที่เกินความเป็นจริง เป็นการหลอกลวงระดับชาติ สร้างความสับสน และความเสียหายอย่างรุนแรงให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง 

การปลูกมันสำปะหลังให้ได้ 10 ตันต่อไร่ที่อายุ 6 เดือน เป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่หลอกลวง...
ข่าวนี้ลงโฆษณาในทีวีและวิทยุสร้างความสับสนให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังมากพอสมควร โดย มีการสร้างจุดขายที่จะนำไปสู่เป้าหมายผลผลิต 10 ตันต่อไร่ที่อายุ 6 เดือน คือ การใช้พันธุ์อายุสั้น เทคนิคการปลูก และฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต นวัตกรรมดังกล่าวนี้ขายพร้อมท่อนพันธุ์ในราคา 5,000 บาทต่อไร่ บริษัทขอรับรองว่าสามารถทำได้ในทุกสภาพพื้นที่ ผู้เขียนได้ศึกษารายละเอียดของวิธีการดังกล่าว โดยมีการใช้พันธุ์ที่ทางบริษัทปรับปรุงขึ้นมาเองมีชื่อว่า พันธุ์ทองขาว ทองแดง และทองเหลือง โดยกล่าวอ้างว่าให้ผลผลิตสูง ในส่วนของเทคนิคการปลูก คือ การยกร่องปลูกแบบร่องปลูกผัก มีขนาดกว้าง 1.50 เมตร ความยาวของร่องไม่จำกัด ตัดท่อนพันธุ์ยาว 50 เซนติเมตร นำท่อนพันธุ์มาห่อด้วยกระสอบเปียกซึ่งชุบด้วยฮอร์โมนที่ประกอบด้วยสารไคโตซานและฮอร์โมนเร่งการเกิดของราก เมื่อรากออกเป็นปมแล้วย้ายลงปลูกในแปลงที่เตรียมไว้ โดย ปลูกบริเวณริมขอบแปลงที่เตรียมไว้ ใช้ 2 ท่อนพันธุ์ ปลูกไขว้กันแบบกากบาท หรือในทำนองว่า 1 หลุมใช้ท่อนปลูก 2 ต้น แต่ปลูกไขว้กันแบบกากบาท ระยะระหว่างแถว 150 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้น 50-100 เซนติเมตร โดย พ่นสารฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตทางใบเดือนละ 1-2 ครั้ง กล่าวโดยรวมนวัตกรรมนี้ไม่เน้นการใช้ปุ๋ยที่ให้ธาตุอาหารหลักเลย เมื่อศึกษาสรีรวิทยาของมันสำปะหลัง พบว่า มันสำปะหลังต้องใช้เวลา 4 เดือนในการสร้างทรงพุ่มใบให้คลุมพื้นที่เพื่อเป็นครัวสร้างแป้ง ดังนั้น จึงมีเวลาสร้างแป้งเพื่อส่งไปสะสมที่หัวแค่ 2 เดือน ผลผลิตมันสำปะหลังที่ได้จะก้าวกระโดดสูงถึง 10 ตันต่อไร่คงเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน เวลานี้ราคาหัวมันสูงทำให้เกิดกระแสการปลูกมันสำปะหลังในนาหลังเก็บเกี่ยวข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก คือ ปลูกพฤศจิกายนเก็บเกี่ยวพฤษภาคม โดย ใช้เวลา 6-7 เดือน เกษตรกรหลายรายถูกหลอกให้ซื้อนวัตกรรมนี้เพื่อไปปลูกหลังนาโดยรับประกันว่าจะได้ผลผลิต 10 ตันต่อไร่ จากการสำรวจการปลูกมันสำปะหลังในนา ให้ผลผลิตเฉลี่ย 3 ตันต่อไร่ ปริมาณแป้งในหัวสดต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ 
สำหรับเรื่องของพันธุ์ที่ใช้ปลูก สันนิฐานว่าพันธุ์พวกนี้เป็นพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตรคัดทิ้งในขั้นตอนของการเปรียบเทียบพันธุ์ในไร่เกษตรกร โดย บริษัทแอบอ้างว่าเป็นพันธุ์ที่ทางบริษัทปรับปรุงขึ้นมาใหม่ ส่วนเทคนิคการปลูก โดย นำท่อนพันธุ์มาห่อด้วยกระสอบเปียกที่ชุบด้วยฮอร์โมนที่ประกอบด้วยสารไคโตซานและฮอร์โมนเร่งการเกิดของราก ซึ่งเป็นการเสี่ยงต่อการเกิดการเน่าเปื่อยของท่อนปลูก เนื่องจากเกิดความร้อนจากจุลินทรีย์ในขณะที่ท่อนปลูกถูกห่อด้วยกระสอบเปียก และเสี่ยงต่อรากอาจเกิดถูกกระทบกระเทือนในขณะขนย้ายลงปลูกในแปลง ที่ถูกต้องควรแช่ท่อนพันธุ์ในสารดังกล่าวแล้วนำท่อนพันธุ์ไปปลูกก่อนที่รากจะงอก การปลูกหลุมละ 2 ต้น ปลูกแบบไขว้กากบาท โดย มีความเชื่อว่าการปลูกหลุมละสองต้นจะช่วยกันสร้างทรงพุ่มเหนือพื้นดินได้มากเพื่อทำหน้าเป็นครัวผลิตแป้งส่งมายังราก นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มจำนวนหัวสะสมแป้งเพื่อรองรับปริมาณการผลิตแป้งที่ได้จากทรงพุ่มใบ เรียกว่า ใช้ประโยชน์จากทฤษฎี sink and source มากำหนดวิธีการปลูกแบบหลุมละสองต้น แต่มองข้ามในเรื่องทฤษฎีการแข่งขันระหว่างต้นที่เรียกว่า intra-plant competition ไป การปลูกแบบหลุมละสองต้นจะมีการแข่งขันระหว่างต้นทำให้ต้นหนึ่งโตอีกต้นหนึ่งแคระแกรน ทั้งสองต้นไม่ได้ส่งเสริมซึ่งกันและกันเหมือนดังความเชื่อที่กล่าวข้างต้น ผิดกับทฤษฏีการทาบกิ่ง (grafting theory) ส่วนของท่อนพันธุ์ที่ใช้ทาบกิ่งทั้งสองส่วนจะช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน ตามวิธีการของมูกิบัดนักวิจัยชาวอินโดนีเซียที่เสนอในที่ประชุมทางวิชาการของสมาคมมันสำปะหลังโลกเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา โดย นำมันสำปะหลังพันธุ์ป่าเป็นส่วนยอดซึ่งให้ทรงพุ่มมากเป็นครัวผลิตแป้ง และพันธุ์ที่ให้หัวมากเป็นต้นตอไว้เก็บสะสมแป้งที่ทรงพุ่มใบผลิตส่งลงมาเก็บที่หัว
ส่วนฮอร์โมนเร่งการเกิดของรากและสารไคโตซาน ผู้เขียนขอแนะนำว่าการใช้ท่อนพันธุ์ปลูกที่ดี คือ ท่อนพันธุ์ที่อายุระหว่าง 8-12 เดือนปลูกในดินที่มีความชื้นพอเหมาะก็เพียงพอต่อการเกิดของรากแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนเร่งการเกิดของราก เนื่องจากตามปกติที่รอยแผลของโคนท่อนปลูกจะเกิดรากฝอยมากกว่า 50 รากตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น สำหรับสารไคโตซานเป็นสารโพลิเมอร์ธรรมชาติประเภทแซคคาไรด์ มีโครงสร้างคล้ายกับเซลลูโลสจากพืช สกัดจากสารไคตินซึ่งเป็นองค์ประกอบอยู่ในเปลือกนอกของสัตว์พวกปู หอย กุ้ง แมลง และเชื้อรา สารธรรมชาตินี้มีลักษณะโดดเด่น คือ เป็นวัสดุชีวภาพย่อยสลายตามธรรมชาติ ปลอดภัยเมื่อใช้กับมนุษย์ และไม่เกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อม โดย ไคโตซานจะซึมผ่านเข้าทางผิวใบและลำต้นพืช เป็นตัวกระตุ้นให้พืชผลิตเอ็นไซม์เพื่อป้องกันการคุกคามของโรคพืช กระตุ้นให้พืชสร้างสารลิกนินและแทนนินคล้ายแวกซ์ เพื่อป้องกันการกัดดูดกินของแมลงศัตรูพืช นอกจากนี้ ไคโตซานยังส่งเสริมการเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน เช่น actiomycetes sp. แต่ลดปริมาณจุลินทรีย์ที่เป็นเชื้อโรค เช่น phythopthora sp. โดยตามธรรมชาติ พบว่า มันสำปะหลังมีศัตรูจากแมลงและโรคน้อยมาก เนื่องจากภายในตัวพืชสามารถสร้างสารพิษไซยาไนด์ได้ในทุกส่วนของอวัยวะ สำหรับในส่วนของใบและลำต้นสามารถสร้างแวกซ์ขึ้นมา เพื่อป้องกันการคายน้ำอยู่แล้วทำให้มันสำปะหลังมีลักษณะทนแล้งได้ดี ดังนั้น การใช้สารไคโตซานจึงไม่จำเป็นในมันสำปะหลัง แต่อาจจำเป็นต่อพืชชนิดอื่นที่มีโครงสร้างอ่อนแอต่อโรคและแมลงศัตรูพืช 

การปลูกมันสำปะหลังเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงโดยใช้หินฝุ่นความเป็นไปได้ขนาดไหน...
ในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ เป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญแห่งหนึ่ง มีพื้นที่ปลูกประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ เป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้แหล่งโรงงานโม่หินในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มีหินฝุ่นเป็นของเหลือใช้จากโรงงานชนิดนี้เป็นจำนวนมหาศาล จากการศึกษาพบว่าหินฝุ่นนี้ประกอบไปด้วยธาตุอาหารรองที่จำเป็นต่อพืช ได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน เหล็ก แมงกานีส ทองแดง และสังกะสี นอกจากนี้ หินฝุ่นยังช่วยปรับสภาพเป็นกรดเป็นด่างของดินให้เป็นกลาง ช่วยทำให้ดินร่วนซุยขึ้น ในถั่วลิสงถือว่าธาตุอาหารรองอย่างแคลเซียมมีความสำคัญมากต่อการสร้างฝักและการติดเมล็ดของฝัก ส่วนในมันสำปะหลังถือว่าธาตุอาหารหลักอย่างโพแทสเซียมมีความสำคัญมากในการสร้างแป้งและการเคลื่อนย้ายแป้งในหัว การใช้หินฝุ่นเป็นเพียงการเสริมธาตุอาหารรองที่จำเป็นให้พืช เพื่อให้พืชนั้นมีคุณภาพของผลผลิตที่ดีขึ้น การใช้หินฝุ่นในมันสำปะหลังคงเป็นแต่เพียงการปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้เป็นกลางมากขึ้น ช่วยทำให้คุณสมบัติทางกายภาพของดินดีขึ้น การใช้หินฝุ่นต้องใส่ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์และเคมี เพราะปุ๋ยทั้งสองให้ธาตุอาหารหลักอย่างไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ข้อควรระวังเป็นพิเศษ การใส่หินฝุ่นติดต่อกันอาจทำให้ดินเกิดสภาพเกินปูนแก้ไขได้ยาก ดังนั้น การใช้หินฝุ่นในมันสำปะหลัง ผลผลิตจะขึ้นอยู่กับธาตุอาหารหลักที่ใส่ลงไปและความเป็นประโยชน์ของน้ำในดินต่อมันสำปะหลังตลอดช่วงของการเจริญเติบโตของพื้นที่นั้นเป็นหลัก

การให้น้ำมันสำปะหลังสามารถยกระดับผลผลิตให้สูงขึ้นได้อย่างแน่นอน...
ในช่วงสองปีที่ผ่านมาราคามันสำปะหลังสูงมากเป็นประวัติศาสตร์การปลูกมันสำปะหลังของประเทศไทยเนื่องจากมีการนำข้าวโพดไปผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนในประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป ดังนั้น ความต้องการมันสำปะหลังไปแทนข้าวโพดในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์จึงมีมากขึ้น ประกอบกับสาธารณรัฐประชาชนจีนต้องการมันเส้นไปผลิตเอทานอลมากเป็นพิเศษ ทำให้เกิดกระแสตื่นตัวในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่เพื่อรองรับความต้องการของตลาดโลก เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปดูการปลูกมันสำปะหลังแบบมีการให้น้ำของเกษตรกรในเขตอำเภอครบุรี หนองบุญมาก และเสิงสางของจังหวัดนครราชสีมา ถือได้ว่าแหล่งปลูกมันสำปะหลังดังกล่าวนี้ มีเทคโนโลยีการปลูกมันสำปะหลังที่ดีที่สุดในโลก ได้ศึกษารายละเอียดวิธีการปลูกมันสำปะหลังแบบมีการให้น้ำ โดย ใช้น้ำใต้ดินที่ถูกสูบด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า หนึ่งบ่อมีน้ำใช้เพียงพอต่อพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 10 ไร่ โดย ให้น้ำผ่านท่อหลักพีวีซีที่มีบันไดเปิดปิดน้ำ แล้วแยกตามร่องปลูกด้วยสายยางน้ำหยด การให้น้ำใช้เวลา 3 ชั่วโมงต่อพื้นที่หนึ่งจุดโดยหมุนเวียนกันไป พื้นที่ปลูก 10 ไร่ จะใช้เวลาในการให้น้ำ 1-2 วันต่อครั้ง ตลอดอายุมันสำปะหลังจะให้น้ำ 4-8 ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาวะแห้งแล้งที่เกิดขึ้น เก็บเกี่ยวที่อายุ 12-14 เดือนได้ผลผลิต 10-12 ต้นต่อไร่ เมื่อเปรียบกับผลผลิตแบบไม่ให้น้ำได้ 6 ตันต่อไร่ 
เมื่อศึกษาโมเดลการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง พบว่า มันสำปะหลังจะหยุดชะงักการเจริญเติบโตในช่วงฤดูแล้ง 5 เดือน คือ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม โดย จำนวนใบที่ทำหน้าที่เป็นครัวสร้างแป้งลดลง เพื่อลดการคายน้ำออกจากต้น ค่าดัชนีพื้นที่ใบที่มีประสิทธิภาพในการสร้างแป้งได้มากที่สุดเท่ากับ 4 หมายความว่า ถ้าปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ 1 ตารางเมตร มันสำปะหลังสามารถสร้างพื้นที่ใบได้ 4 ตารางเมตร ค่าดัชนีพื้นที่ใบที่สูงกว่านี้ใบจะเกิดการบังแสงกันซึ่งกันและกัน ทำให้ประสิทธิภาพในการสังเคราะห์แสงของใบลดลง ดังนั้น ควรให้น้ำในช่วงฤดูแล้งเพื่อจะช่วยให้มันสำปะหลังมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องหรือทำให้ใบร่วงน้อยที่สุด มีผลทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นแต่ละเดือนอย่างก้าวกระโดด ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์โมเดลการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง การปลูกมันสำปะหลังแบบมีการให้น้ำเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด ต้องปลูกในช่วงต้นฤดูฝน คือ ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงพฤษภาคม มีการให้น้ำในช่วงสองเดือนแรกของการเจริญเติบโตตามความจำเป็นและให้น้ำเต็มที่ในช่วงฤดูแล้ง 5 เดือนตามที่กล่าวข้างต้น 

จริง ๆแล้ว...การปลูกมันสำปะหลังเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงควรทำอย่างไร
ผลผลิตมันสำปะหลังขึ้นอยู่กับพื้นฐานการใช้ที่ดินที่ผ่านมาหรือสมรรถนะของดินเป็นหลัก ส่วนการจัดการดินและน้ำ และเทคนิคการปลูกที่ถูกต้องและเหมาะสม เป็นตัวช่วยเสริมในการยกระดับผลผลิตมันสำปะหลังให้สูงขึ้น การปรับปรุงสมรรถนะของดินที่เสื่อมโทรมแล้วต้องใช้เทคนิคและเวลาพอสมควร เพื่อให้ฟื้นกลับมามีสมรรถนะสูงเหมือนเดิม ดังนั้น การใช้ปัจจัยการผลิตอย่างเช่นปุ๋ยชีวภาพร่วมกับปุ๋ยเคมีประกอบกับเทคนิคการปลูก ไม่สามารถยกระดับผลผลิตให้สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทันทีทันใดได้เหมือนกันในทุกชนิดของดิน ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับความเป็นประโยชน์ของน้ำในดินตลอดช่วงของการเจริญเติบโตของมันสำปะหลังในพื้นที่นั้นเป็นหลักดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
การปรับปรุงสมรรถนะของดินให้เหมาะสมต่อการผลิตมันสำปะหลัง หลักสำคัญก็คือการเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินเป็นการสร้างให้ดินมีความสามารถในการอุ้มน้ำได้ดี และการเพิ่มธาตุอาหารหลักให้กับดิน ได้แก่ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลสัตว์หรือเปลือกมันจากโรงงานแป้งหรือปุ๋ยพืชสดจากปอเทืองและถั่วพร้าปลูกแล้วไถกลบ ในกรณีที่ดินถูกใช้งานมาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดชั้นดินดานใต้ดินจากรถแทรคเตอร์ในการเตรียมดิน ทำให้ระบายน้ำลงใต้ดินได้ยากในฤดูฝน เกิดปัญหาหัวเน่าจากน้ำท่วมขัง ในช่วงฤดูแล้งมันสำปะหลังไม่สามารถใช้น้ำใต้ดินได้ ทำให้เกิดการชะงักการเจริญเติบโต ดังนั้น ควรใช้หญ้าแฝกปลูกประมาณ 1-2 ปี เพราะหญ้าแฝกมีระบบรากลึกถึง 3 เมตร สามารถทำลายชั้นดินดานได้และเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุให้กับดินด้วย
การเลือกฤดูปลูก หลักสำคัญก็คือควรจัดวันปลูกเพื่อให้ช่วงอายุ 3-12 เดือนของมันสำปะหลังได้รับน้ำฝนมากที่สุด โดย พื้นฐานผลผลิตจะขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนในช่วงอายุดังกล่าว โดย ในช่วงแรกระยะตั้งแต่ 1 - 3 เดือนหลังปลูก มันสำปะหลังต้องการน้ำน้อยเพื่อการเจริญเติบโต ดังนั้น เมื่อคำนวณแล้ว พบว่า การปลูกมันสำปะหลังแบบอาศัยน้ำฝนจะให้ผลผลิตสูงสุดเมื่อปลูกในช่วงฤดูร้อน (กุมภาพันธ์-มีนาคม) รองลงมา คือ ต้นฤดูฝน (เมษายน-พฤษภาคม) และปลายฤดูฝน (ตุลาคม-พฤศจิกายน) แต่การปลูกในช่วงฤดูร้อนและปลายฤดูฝนมีข้อจำกัดของปริมาณน้ำฝนค่อนข้างน้อย มีผลต่อการงอกของท่อนพันธุ์
การเลือกพันธุ์มันสำปะหลัง หลักสำคัญก็คือ ดินที่ใช้ปลูกมันสำปะหลังโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ดินร่วนเหนียวถือได้ว่าเป็นดินดี ดินชนิดนี้สามารถนำไปปั้นเป็นลูกกระสุนได้ และดินร่วนทรายถือได้ว่าเป็นดินปานกลางถึงเลว ดินชนิดนี้ไม่สามารถนำไปปั้นเป็นลูกกระสุนได้ เนื่องจากดินแตกง่ายไม่เกาะติดกัน โดย ดินร่วนเหนียว ควรปลูกพันธุ์ระยอง 5 และระยอง 72 ส่วนดินร่วนทรายควรปลูกพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ระยอง 90 ห้วยบ่ง 60 และระยอง 9 เนื่องจากทั้ง 4 พันธุ์ เมื่อนำไปปลูกในดินร่วนเหนียวจะเจริญเติบโตในส่วนของลำต้นที่อยู่เหนือดินมากกว่าลงหัว หรือชาวบ้านเรียกกันว่าขึ้นต้นหรือบ้าต้นเกินไป ส่วนพันธุ์ระยอง 7 นั้นเหมาะทั้งดินร่วนเหนียวและดินร่วนทรายที่มีความชื้นของดินดีตลอดช่วงของการเจริญเติบโต แต่ไม่เหมาะกับสภาพดินที่แห้งแล้ง 
การเตรียมดินให้ลึก ที่ผ่านมาเกษตรกรไม่ให้ความสำคัญในเรื่องการเตรียมดินมากนัก หลักสำคัญก็คือ ต้องไถดะครั้งแรกให้ลึกที่สุดด้วยผาล 3 หรือ ผาล 4 เท่านั้น ควรไถดะในขณะที่ดินมีความชื้นพอเหมาะ ห้ามไถดะด้วยผาล 7 เพราะจะไถได้ไม่ลึก การไถดะให้ลึกจะเพิ่มความสามารถในการเก็บกักความชื้นของดินได้มากขึ้นและมันสำปะหลังลงหัวได้ง่าย จากนั้น ตากหน้าดินเพื่อให้วัชพืชตาย ถ้าเป็นดินร่วนเหนียวควรไถแปรครั้งที่สองเพื่อย่อยดินด้วยผาล 7 และตามด้วยการยกร่องพร้อมปลูก ส่วนดินร่วนทรายไม่จำเป็นต้องไถแปรครั้งที่สองด้วยผาล 7 สามารถยกร่องพร้อมปลูกได้เลย ในกรณีที่เกษตรกรสามารถหาปุ๋ยอินทรีย์ได้ ควรหว่านปุ๋ยอินทรีย์ก่อนไถดะ ปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้ได้ผล คือ ปุ๋ยมูลไก่ 500-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ กากมันวัสดุเหลือจากโรงงานแป้ง 2 ตันต่อไร่
การปลูกที่ถูกต้อง หลักสำคัญก็คือ ควรเลือกต้นพันธุ์ที่ใช้ปลูกที่มีอายุ 10-12 เดือน จะให้ความงอกดีที่สุด โดย เลือกต้นพันธุ์ที่แข็งแรง มีตาถี่ ขนาดโตพอสมควร ต้องตัดท่อนปลูกด้วยมีดที่คม เพื่อมิให้ท่อนปลูกช้ำ ยาวไม่ต่ำกว่า 20 เซนติเมตร ปลูกปักตรงให้ลึก 2 ใน 3 ของความยาวท่อนปลูก ในดินร่วนเหนียว ควรใช้ระยะแถวกว้าง 1.20 เมตร ระยะปลูกตั้งแต่ 0.50-1.00 เมตร และในดินร่วนทราย ควรใช้ระยะแถวแคบ 0.80 เมตร ระยะปลูกตั้งแต่ 0.50-0.80 เมตร เทคนิคการเฉือนตาข้างของท่อนปลูกออกเพื่อให้เกิดหัวเพิ่มขึ้นอย่ากระทำโดยเด็ดขาด เพราะรากฝอยที่เกิดจากรอยแผลที่โคนของท่อนปลูกก็มีมากเพียงพอที่จะพัฒนาเป็นหัวสะสมอาหารได้ นอกจากนี้หัวที่เกิดจากโคนท่อนปลูกจะออกรอบโคนสะดวกต่อการเก็บเกี่ยวและหัวขาดยากเมื่อมีการขุดถอนหัวมันสำปะหลัง 
การกำจัดวัชพืช หลักสำคัญก็คือ มันสำปะหลังใช้เวลาประมาณ 3 เดือนหลังจากปลูก เพื่อสร้างพุ่มใบให้คลุมพื้นที่ระหว่างร่องทั้งหมด ดังนั้น ภายในช่วง 3 เดือนแรกถือว่าเป็นช่วงวิกฤตของมันสำปะหลัง ต้องดูแลรักษาให้มันสำปะหลังปลอดวัชพืช ถ้าปล่อยให้วัชพืชแข่งขันกับมันสำปะหลัง มันสำปะหลังจะแคระแกร็น มีผลให้ผลผลิตลดลงมาก การกำจัดวัชพืชสามารถเลือกทำแบบผสมผสาน โดย ใช้จอบถาง รถไถเดินตามแถกระหว่างร่อง ใช้สารเคมีประเภทคลุมก่อนวัชพืชงอกหรือสารเคมีฆ่าหลังวัชพืชงอก สารเคมีประเภทคลุมใช้ได้ผลเฉพาะการปลูกต้นฤดูฝนเท่านั้น สารเคมีประเภทฆ่า โดยเฉพาะ ห้ามใช้ไกลโฟเสทในขณะที่มันสำปะหลังต้นเล็กอยู่ เพราะมีผลทำให้ชะงักการเจริญเติบโต
การใส่ปุ๋ยเคมี ควรเลือกใช้ปุ๋ยเคมีอัตราส่วน 2 : 1 : 2 ปุ๋ยเคมีที่แนะนำ คือ 15-7-18 หรือ 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ โดย ใส่ปุ๋ย 2 ข้างลำต้นรัศมีพุ่มใบแล้วกลบ ใส่ปุ๋ยครั้งเดียวเมื่ออายุ 1 เดือนหลังจากปลูก หลักสำคัญก็คือ ต้องใส่ปุ๋ยเคมีในขณะที่ดินมีความชื้นและต้องกลบปุ๋ยด้วย ถ้าไม่กลบปุ๋ยอาจสูญเสียปุ๋ยมากเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการเก็บเกี่ยว หลักสำคัญก็คือ ควรเลือกเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังในช่วงที่เหมาะสมตั้งแต่อายุ 10-18 เดือน ควรงดเว้นการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังในช่วงฝนแรก คือ ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงมิถุนายน เนื่องจากมันสำปะหลังแตกใบอ่อน จะให้เปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ

ทางเลือกใหม่ของเกษตรกรในภาวะราคาหัวมันสูง ควรจัดการเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างไร...
ในยุคที่หัวมันราคาสูงเป็นประวัติศาสตร์การปลูกมันสำปะหลังของไทย อันเนื่องมาจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความต้องการมันเส้นอย่างมหาศาล เพื่อไปผลิตเอทานอลและอาหารสัตว์ แรงจูงใจในราคานี้ทำให้เกษตรกรรีบเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังทั้งที่อายุยังน้อยเกินไป ทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ จากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า การเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังที่อายุ 18 เดือนหรือปีครึ่งที่ระดับประชากรปลูก 1,600 ต้นต่อไร่ โดย ใช้ระยะปลูก 1x1 เมตร จะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับเก็บเกี่ยวที่อายุ 12 เดือน เกษตรกรสามารถจัดการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังได้ก่อนในปีแรกที่อายุ 12 เดือน แล้วปล่อยบางส่วนไว้เก็บเกี่ยวที่อายุ 18 เดือนโดยคุณภาพของหัวยังได้มาตรฐาน จากการศึกษาคุณภาพของหัวมันสำปะหลัง พบว่า หัวมันที่อายุเกิน 18 เดือนไปแล้ว จะให้ปริมาณแป้งในหัวสดต่ำ คุณภาพของแป้งไม่ได้มาตรฐาน มีปริมาณเส้นใยสูง และหัวบางส่วนเริ่มเน่าแล้ว ดังนั้น การเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังแถวเว้นแถวตามด้านยาวที่อายุ 12 เดือนหรือประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดโดยให้มันสำปะหลังเหลืออยู่ 800 ต้น ได้ระยะปลูกใหม่ 1x2 เมตร หรือเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังแถวเว้นแถวทั้งด้านยาวและด้านกว้างที่อายุ 12 เดือนหรือประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดโดยให้มันสำปะหลังเหลืออยู่ 400 ต้น ได้ระยะปลูกใหม่ 2x2 เมตร ดังนั้น การทำให้พื้นที่ต่อต้นเพิ่มขึ้นในช่วงหลังจากอายุ 12 เดือน เป็นการเพิ่มศักยภาพในการให้ผลผลิตของมันสำปะหลังตามหลักสรีรวิทยาของพืช นอกจากนี้ ยังไม่เสียต้นทุนในการปลูกใหม่อีก นี่คือ ทางเลือกใหม่ในการจัดการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ได้กำไรสูงสุดอีกวิธีหนึ่ง 

บรรณานุกรม
โอภาษ บุญเส็ง จิณณจาร์ หาญเศรษฐสุข เมธี คำหุ่ง และอุดม จันทะมณี. 2544-46. ศึกษาการเปลี่ยนแปลงน้ำหนัก
แห้ง ชีวเคมีในหัว และเคมีฟิสิกส์ของแป้งมันสำปะหลัง : พันธุ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเกษตร. หน้า 871-943
ใน เอกสารผลงานวิจัยมันสำปะหลัง ปี 2544-46 ชุดโครงการวิจัยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการใช้
ประโยชน์มันสำปะหลัง, กองแผนงานและวิชาการ, กรมวิชาการเกษตร, กระทรวง เกษตรและสหกรณ์.
โอภาษ บุญเส็ง. 2549. เลือกพันธุ์ให้เหมาะกับพื้นที่วิธีเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง. หนังสือพิมพ์กสิกร 79(4) : 17-20