วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การย้ายต้นกล้าอินทผลัม (เปลี่ยนถุงดำ)


บทเรียนที่ 4  การย้ายต้นกล้าอินทผลัม (เปลี่ยนถุงดำ)
เรียบเรียงโดย : ชาวนา™

///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////


ในบทเรียนนี้จะขอนำเสนอการขั้นตอนและวิธีการเปลี่ยนถุงดำให้กับต้นกล้าอินทผลัม แต่ภาพที่นำเสนอนี้เป็นการเปลี่ยนถุงดำให้กับต้นกล้าที่ผมคัดเป็นพิเศษครับ (ต้นที่คาดว่าเป็นตัวเมีย) แน่นอนว่าเมื่อตอนที่ยังเล็กๆ เราอาจใช้ถุงที่มีขนาดเล็ก หรือบางคนอาจจะใช้ถุงใหญ่ก็ตาม  แต่สิ่งหนึ่งที่ควรเรียนรู้ก็คือระบบรากของอินทผลัม และคุณภาพของดินที่นำมาใช้ในการเพาะต้นกล้าอินทผลัม

มาทำความเข้าใจเรื่องดินกันสักนิดครับ  หลังจากที่ได้เพาะอินทผลัมมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 เดือน  ดินที่เราใช้ผสมโดยทั่วไปมักจะนำเอาดินร่วน หรือดินที่คิดว่ามีความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหาร หรือนำเอาดินที่ดีที่สุดมาเพาะอินทผลัม  หรือแม้กระทั่งบางคนอาจจะนำเอาปุ๋ยหมัก และมูลสัตว์ผสมลงในดินด้วย  วิธีนี้ผมมองว่าอันตรายที่สุด  เพราะจะเป็นแหล่งเพาะบ่มเชื้อโรคหลายชนิดให้กับดินที่ใช้เพาะต้นกล้าอินทผลัม

แล้วดินอะไรล่ะ ที่น่าจะนำมาใช้ในการเพาะอินทผลัมได้ดีที่สุด  ผมเองก็ลืมคิดไปว่า  จริงๆ แล้วอินทผลัมเกิดจากทะเลทราย  ดินทั้งหมดล้วนเป็นทราย  ดังนั้นดินที่เหมาะสำหรับการเพาะเมล็ดอินทผลัมจึงควรใช้ทรายหยาบ หรือทรายที่ใช้ในงานก่อสร้างกันครับ  เพราะนอกจากจะสะอาดแล้วยังคิดว่าน่าจะปลอดภัยจากเชื้อโรคมากที่สุด และทรายยังมีคุณสมบัติระบายน้ำได้ดี แต่เก็บความชื้นไว้เพียงพอและเหมาะสมกับอินทผลัม

ดังนั้น  ในบทเรียนนี้ผมจึงเลือกใช้ทรายหยาบที่ใช้ในงานก่อสร้าง  และแกลบดำ ที่มีซิลิก้าอยู่ค่อนข้างมาก  อีกส่วนหนึ่งคือ ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด  (ไม่แนะนำปุ๋ยคอก, ปุ๋ยหมัก)  อัตราส่วน 1:1:0.1 (ทราย,แกลบดำ,ปุ๋ยอินทรีย์)   มาเริ่มกันเลยครับ  ในภาพนี้ผมใช้ทราย 10 ถัง, แกลบดำ 10 ถัง  และปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด 1 ถัง





เมื่อเตรียมส่วนผสมทุกอย่างแล้ว  เราก็คลุกเคล้าดินให้เข้ากันครับ  โดยรดน้ำบ้างพอดินชุ่มไม่ต้องให้เปียกนะครับเดี๋ยวจะกรอกดินลงถุงลำบาก...



จากนั้นผมก็คัดเลือกต้นกล้าที่คาดว่าจะเป็นต้นตัวเมีย  มาทำการแปลงร่างเปลี่ยนถุงให้ใหม่ครับ  ในภาพนี้ใบจะอวบอ้วน  โคนต้นมีขนาดอวบใหญ่กว่าอินทผลัมทั่วๆ ไปในวัยเดียวกัน 




////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////


มาดูวิธีถอดถุงดำออกจากต้นกล้ากันดีกว่าครับ  ถุงดำนั้นมีราคาแพงบางจังหวัด กิโลกรัมละ 60-80 บาท  แต่ผมซื้อได้ราคา 45-50 บาท/กิโลกรัม  ดังนั้นเราจะไม่ยอมเสียถุงดำเด็ดขาด  ไม่ต้องฉีก ไม่ต้องตัด  ขั้นแรกให้คว่ำถุงดำลงฝ่ามือ  โดยให้ต้นกล้าแทรกระหว่างนิ้วมือ  จากนั้นใช้มือบีบรอบๆ ถุงดำเบาๆ  เพื่อให้ดินด้านในหลวม  แต่ต้นกล้าอายุ 3-4 เดือนให้ระวังรากด้านในนะครับ  เพราะเขากำลังมีรากอ่อนๆ สีขาว 2-3 ราก เหมือนเส้นเลือดใหญ่เลยครับ  ระวังให้มากๆ



จากนั้นค่อยๆ ดึงถุงดำขึ้นครับ  มือประกองดินในถุงให้ดี อย่าให้ร่วงซะก่อน...



อีกเรื่องนึง  ก่อนที่จะเปลี่ยนถุงดำ ให้รดน้ำทิ้งไว้ก่อนสัก 1 ชั่วโมงนะครับ  ดินในถุงจะได้ไม่แห้ง  เวลาถอดถุงออกแบบนี้ดินจะไม่แตกครับ  รากก็จะไม่กระทบกระเทือนมาก



รากขนาดใหญ่สีขาว 2 เส้น เปรียบเหมือนเส้นเลือดใหญ่ ทั้งเปราะบางและอ่อนแอ  แต่พร้อมที่จะเติบโตแล้วครับ  ขั้นตอนบีบถุงที่บอกให้ระวังก็เพราะเหตุนี้นี่เอง...



///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////


ก่อนหน้านั้นต้องกรอกดินใส่ถุงเตรียมไว้  โดยเติมดินลงถุงที่ต้องการเปลี่ยนประมาณ 25% ของถุงครับ  เหตุผลเพราะเราต้องการให้มีดินที่ก้นถุงรองรับรากอินทผลัมที่เป็นเส้นเลือดใหญ่  หรือเพื่อต้องการให้มีพื้นที่ให้รากอินทผลัมหาอาหารครับ  เพราะรากทั้งหมดจะหากินที่ก้นถุงครับ




จากนั้นนำต้นอินทผลัมที่เราดึงถุงดำออก  ไปวางใส่ถุงที่เตรียมไว้  โดยตั้งให้ต้นอินทผลัมอยู่ที่จุดกึ่งกลางนะครับ  สังเกตุว่าดินจะยังไม่แตกตัว  เพราะความชุ่่มของน้ำทำให้ดินจับตัวเ็ป็นก้อน



เสร็จแล้วให้เราใช้มือบี้ดินจากถุงเดิมที่ย้ายลงไป ให้แตกไปเลยครับ ไม่ต้องกลัวว่าจะกระทบกระเทือนรากอินทผลัม  เพราะอย่างที่บอกรากอินทผลัมจะหากินที่ด้านล่างของก้นถุง  ส่วนนี้จึงไ่ม่มีรากอินทผลัมจึงไม่ต้องระวัง  อีกอย่างการทำแบบนี้จะเป็นการเปิดให้เห็นโคนต้นอินทผลัม  เราจำต้องให้ส่วนนี้โผล่ดินขึ้นมาเพื่อไม่ให้ดินรัดโคนต้น  ต้นจะได้ขยายเร็วขึ้น  จะเห็นว่าโคนต้นส่วนที่เคยอยู่ในดินจะเป็นสีขาว  ส่วนที่โผล่เหนือดินจะเป็นสีเขียว ในขั้นตอนนี้ดินในถุงจะเพิ่มขึ้นเป็น 70%




จากนั้นจึงนำดินที่ผสมไว้มาโรยกลบด้านบนอีกรอบ  โดยให้เหลือขอบถุงดำไว้สัก 2.5-3 ซม. นะครับ เพื่อเวลารดน้ำจะได้ไม่กระเด็นออกหมดซะก่อน  อีกอย่างไม่ต้องกลัวน้ำจะขับเพราะทรายกับแกลบดำจะไม่เก็บน้ำครับ  เหลือแต่ความชุ่่มชื้นเท่านั้น




โคนต้นจะโผล่ขึ้นมาเล็กน้อยครับ  เพื่อให้ต้นอินทผลัมเริ่มขยายสะโพก ดินไม่รัดจนเกินไป



เสร็จเรียบร้อยแล้วครับ  สาวน้อยในชุดใหม่  ยิงฟันยิ้ม



ผมตั้งใจจะแยกพันธุ์คาลาสไว้ 200 ต้นครับ  (เห็นด้านหลังไกลลิบๆ นั่นคือผักหวานบ้าน)



บทเีรียนนี้ตั้งใจมอบให้เป็นความสุขเนื่องในโอกาสปีใหม่  และขออวยพรให้ทุกท่านที่อ่านบทเรียนนี้จงพบแต่ความโชคดี สุข สมหวัง ดังปรารถนาทุกประการครับ





ขอบคุณข้อมูลดีๆจากhttp://www.kasetporpeang.com

การดูแลต้นกล้าอินทผลัม


บทเรียนที่ 3 การดูแลต้นกล้าอินทผลัม
เรียบเรียงโดย : ชาวนา?

///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////




หลังจากที่สมาชิกหลายคนได้เริ่มต้นในบทเรียนที่ 1 และ บทเรียนที่ 2 กันแล้ว ตอนนี้คงถึงเวลาที่จะต้องพูดถึงเรื่องการดูแลต้นกล้าอินทผลัมได้แล้วครับ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป  เพราะความสำคัญของการผลิตต้นกล้าคุณภาพต้องพิถีพิถันทุกขั้นตอน ... วันนี้จึงมาแนะนำเคล็ดไม่ลับกับการดูแลต้นกล้าอินทผลัมแบบมือใหม่ทุกท่านครับ... นี่เป็นผลการทดลองจริงๆ ไม่ได้ไปลอกใครมาครับ  ทุกอย่างคือประสบการณ์ตรง แม้จะไม่มากแต่ก็ยินดีที่จะแบ่งปันถ่ายทอดให้กับสมาชิก  ยังดีกว่าผู้ที่รู้แล้วไม่แบ่งปันเลย...


ในระหว่างที่เมล็ดอินทผลัมนอนแน่นิ่งอยู่ในถุงดำ  ใช่ว่ามันจะอยู่เฉยๆ นะครับ  เพราะมันกำลังเร่งสร้างระบบราก โดยรากจะยาวมากกว่า 4 นิ้ว  จนบางครั้งต้องทะลุออกมานอกถุง เหมือนในภาพด้านบน  ก่อนที่มันจะพัฒนาเป็นลำต้นโผล่พ้นดินมาให้เราเห็น  ในช่วงนี้รากบางส่วนที่ทะลุถุงดำออกมา มีความสำคัญมากต่อการเจริญเติบโต  เพราะถ้าหากถุงดำของท่านวางไว้บนพื้นคอนกรีต รากอินทผลัมจะหากินได้อย่างไรบนพื้นแข็งๆ ใช่ไหมครับ ดังนั้นบทเรียนนี้จึงแนะนำว่า ควรวางถุงดำที่เพาะต้นกล้าอินทผลัมไว้บนพื้นดิน  เมื่อรากอินทลัมส่วนที่ทะลุถุงดำออกมาสามารถแทงลงบนพื้นดินได้โดยตรง การหาอาหารไปเลี้ยงลำต้นด้วยรากใต้ดิน ย่อมจะส่งผลให้ต้นกล้าอินทผลัมของเราเติบโตเร็วอย่างไม่คาดคิด...


หลังจากนั้นประมาณ 10 วันต้นกล้าจะค่อยๆ แทงใบแรกขึ้นมาอย่างช้าๆ ในระยะนี้ต้องระวังน้ำที่ท่วมขังในถุงมากเกินไป อาจจะเกิดจากดินในถุงแน่นเกินไป หรือรดน้ำแฉะเกินไป จนส่งผลอินทผลัมดูซีดเซียว  ไร้คลอโรฟิลด์  ยิงฟันยิ้ม


ปัญหาในภาพด้านบนนี้ลักษณะคล้ายโรคราสนิม  แต่ไม่ร้ายแรงครับ ไม่ต้องหายาอะไรมาฉีดพ่นให้มัน  รออีกประมาณ 20 วัน ใบที่สองจะเริ่มแทบขึ้นมาใหม่ คราวนี้จะได้ใบที่ไร้สนิมแน่นอน  งานนี้ไม่ต้องเปลืองค่ายารักษาโรค  ปลูกง่ายใชไ่หมล่ะครับ? ยิงฟันยิ้ม


จากหน่อสีขาวที่โผล่ขึ้นมาชมโลก ผ่านไปประมาณ 20-25 วัน หลังจากมีใบแรกแล้วก็จะเริ่มแทงใบที่ 2 ขึ้นมาให้ชื่นใจ  ในระยะ 20 วันแรกเป็นช่วงที่ต้องบำรุงเขาซะหน่อยครับ  ใครมีสูตรเด็ดอะไรงัดมาใช้ได้เลย น้ำหมักปลา  น้ำหมักต่างๆ  อย่าลืมเจือจางก่อนใช้นะครับ  เพราะน้ำหมักส่วนมากมีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อนๆ  ถ้าไม่เจือจางก่อนใช้เดี๋ยวต้นอินทผลัมน้อยๆ กลับบ้านเก่าอย่างน่าเสียดายแน่ๆ เลยครับ  ท่านที่ไม่ชอบปุ๋ยเคมีก็เลือกใช้น้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก  ส่วนท่านที่คิดว่าควรให้ปุ๋ยเคมีสักเล็กน้อย ก็แนะนำว่า ควรเน้นปุ๋ยเลขหน้าระดับกลางๆ เช่น 25-5-5 หรือปุ๋ยสูตรเสมอก็ได้ครับ เช่น 15-15-15 แต่ไม่ต้องแรงจัดถึงขั้นใช้ยูเรีย (46-0-0)   คำแนะนำในบทเรียนนี้ควรใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกนะครับ


โดยปกติใบอินทผลัมที่ตั้งวางไว้กลางแดดจะมีความยาวเฉลี่ยประมาณ 8-10 นิ้ว ก่อนที่จะแทงใบที่สอง  แต่หากตั้งวางถุงเพาะชำไว้ในร่มอาจมีใบยาวกว่านี้อีกหลายนิ้ว  แต่เนื่องจากการวางถุงเพาะชำไว้ในร่มมากเกินไป อาจทำให้ต้นกล้าอ่อนแอเพราะพวกมันเร่งสร้างใบและลำต้นที่อวบไปด้วยน้ำ  เวลาออกแดดก็จะเหมือนคุณนายนะครับ เราต้องลำบากหากางร่่มให้มัน... ดังนั้นเราต้องฝึกให้มันอดทนตั้งแต่เด็กๆ ไว้เลยครับ


วัชพืชในถุงเพาะชำ ก็มีความสำคัญมาก  อย่าปล่อยปะละเลยจนให้วัชพืชโตกว่าอินทผลัม  เพราะมันจะแย่งอาหารต้นกล้าของเราได้ครับ  เมื่อเจอควรรีบถอนทิ้งทันที 


จั่งซี่มันต้องถอนนนนนนนนนนนนนนนนนนนน... ยิ้มกว้างๆ  ยิ้มกว้างๆ  ยิ้มกว้างๆ


สำหรับอินทผลัมที่มี 2 ราก สามารถเติบโตร่วมกันได้เป็นอย่างดี  อนาคตคงตอบโจทก์คุณเจได้นะครับว่า มันจะแข็งแรงทั้งคู่หรือไม่ เพราะเท่าี่ที่ดูตอนนี้ทุกอย่างโอเค  ยิงฟันยิ้ม


จบบทเรียนที่ 3 ครับ  หวังว่าทุกคนคงได้ประโยชน์ร่วมกันไม่มากก็น้อย  ความจริงคนที่เคยปลูกก่อนน่าจะถ่ายทอดประสบการณ์แก่เพื่อนสมาชิกบ้างก็ดี...อย่าเก็บไว้คนเดียวครับ เพราะที่นี่คือ "โลกสีเขียวแห่งการแบ่งปัน"



ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://www.kasetporpeang.com

การดูแลเมล็ดในถุงเพาะชำ


บทเรียนที่ 2  การดูแลเมล็ดในถุงเพาะชำ
เรียบเรียงโดย : ชาวนา™

///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////



ห้องเรียนนี้ไม่มีเช็คชื่อนะครับ  ใครขยันอ่านขยันติดตามก็คิดว่าน่าจะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย เพราะผมจะถ่ายทอดจากประสบการณ์จริงที่ลงมือทำเองทั้งหมด ... คิดว่าสมาชิกทุกท่านคงได้ศึกษาบทเรียนที่ 1 กันไปบ้างแล้ว และคิดว่ามีหลายๆ ท่านได้เริ่มลงมือปฏิบัติกันบ้างแล้ว และอาจมีหลายท่านกำลังค้นฟ้าคว้าดาวตามหาเมล็ดพันธุ์แบบพลิกปฐพีเลยก็ว่าได้  ไม่ว่าจะได้เมล็ดพันธุ์อินทผลัมชนิดไหนมาอย่าลืมทำตามบทเรียนที่ 1 นะครับ..



หลังจากที่หยอดเมล็ดลงถุงไปเรียบร้อยแล้ว  การดูแลรักษาเมล็ดพันธุ์มีความสำคัญมาก ในที่นี้จะพูดถึงการรดน้ำ เพราะการให้น้ำในขณะที่เมล็ดยังไม่พัฒนาเป็นลำต้นนั้น ต้องให้ด้วยความระมัดระวัง เพราะการให้น้ำมากเกินไปอาจทำให้เมล็ดที่กำลังมีรากสีขาวๆ นั้นเน่าได้  แต่ถ้าหากให้น้ำน้อยเกินไปจนทำให้ดินในถุงแห้ง ก็จะำทำให้รากแห้งเหี่ยวและตายในที่สุด ในระหว่างนี้ห้ามรดน้ำผสมปุ๋ยหรือให้ปุ๋ยทุกชนิดครับ



การให้น้ำมากเกิน  จนทำให้ดินในถุงเปียกแฉะตลอด 24 ชั่วโมง หรือ ถุงเพาะชำวางไว้กลางแจ้งและโดนฝนมากเกินไป หรือ ถุงเพาะชำไม่ระบายน้ำ (ดินในถุงอาจแน่นเกินไป) ทุกอย่างล้วนต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะหากปล่อยให้น้ำขังในถุงหรือรดน้ำจนดินแฉะตลอดเวลา ก็เป็นสาเหตุทำให้รากอินทผลัมเน่าได้เช่นกัน


กรณีที่วางถุงเพาะชำไว้กลางแจ้ง และโดนฝนตลอด หลังฝนตกให้สำรวจดูว่าในถุงเพาะชำมีน้ำขังหรือไม่ ถุงระบายน้ำได้ดีหรือไม่ หากมีอย่างละเลยนะครับ ให้หาทางระบายน้ำออกจากถุงด้วยการใช้ไม้เสียบลูกชิ้นแทงลงไปในดินให้ทะลุที่ก้นถุง แค่นี้ก็สบายหายห่วงแล้วครับ  แม้ฝนจะตกหนักหรือตกติดต่อกันหลายวัน หากถุงเพาะชำระบายน้ำได้ดีก็หมดปัญหา  แต่ถ้าหากใครที่เพาะไม่มากแนะนำให้นำถุงเพาะชำไว้ในร่มและโดนแดดบ้างวันละ 2-4 ชั่วโมง จะช่วยให้ดินมีความร้อนและส่งผลให้เมล็ดงอกเร็วยิ่งขึ้น

กรณีให้น้ำน้อยจนเกินไป หรืออาจเกิดจากลืมรดน้ำ หรือไม่มีเวลารดน้ำ จนดินในถุงเพาะชำแห้ง  สาเหตุนี้ต้องระวังให้มาก หากไม่มีเวลาอยู่บ้านต้องบอกให้คนที่บ้านคอยรดน้ำให้วันละ 1 ครั้ง ในตอนเช้าก็พอครับ  ไม่ต้องรักมันมากรดน้ำวันละ 3 เวลานะครับ (เช้า-กลางวัน-เย็น) เพราะให้น้ำมากมีผลเสียมากกว่าผลดี



จะรู้ได้อย่างไรว่าให้น้ำในปริมาณที่พอเหมาะ  ให้สังเกตความชุ่มชื้นของดินด้วยสายตาของเราเอง  หากถุงเพาะชำแห้งเกินไปดินจะกลายเป็นผงใช้นิ้วเขี่ยหรือสัมผัสดูจะเห็นว่าดินร่วนจนเป็นผง  แต่ถ้าหากดินเปียกน้ำจนเกินไปนิ้วของเราที่จิ้มลงในถุงเพาะชำก็จะมีคราบน้ำติดมือขึ้นมาด้วย  ดังนั้นการผสมดินจึงควรคำนึงถึงการระบายน้ำให้ดี  อัตราส่วนดินผสมเอง  แกลบดำ 2 ส่วน, ดิน 1/2 ส่วน, ทรายหยาบ 1/2 ส่วน รวมทั้งหมด 3 ส่วน   แต่หากเป็นดินถุงที่ซื้อตามร้านทั่วไป ไม่ต้องผสมครับเพราะส่วนมากมีแต่แกลบดำอยู่แล้ว

ความลึกของการกลบเมล็ด มีผลต่อการงอกของต้นอินทผลัม  การกลบเมล็ดยิ่งลึกยิ่งทำให้การงอกช้าตามไปด้วย แต่ในทางกลับกัน การวางเมล็ดไว้บนผิวดินตื้นๆ ทำให้ต้นอินทผลัมงอกเร็วกว่าหลายเท่าตัว



ตอนปลูกกลบเมล็ดลึกเกินไป งอกช้ากว่าปกติ 5-7 วัน หรือบางทีอาจนานถึง 15 วัน


ตอนปลูกกลบเมล็ดบางๆ รดน้ำนานไปเหลือแต่เมล็ด ต้นงอกเร็ว



ปัญหารากหัก อาจเกิดจากความไม่ตั้งใจ ส่งผลทำให้รากของอินทผลัมหัก นับว่าเป็นปัญหาร้ายแรงที่ทำให้เราเสียเมล็ดนั้นไปเลย  ถึงแม้เราจะเพาะลงดิน แต่โอกาสที่จะงอกเป็นต้นกล้าเล็กๆ น้อยมาก  ดังนั้นควรดูแลเมล็ดขณะอบในขวดตามบทเรียนที่ 1 อย่างระมัดระวังไม่ควรเขย่าขวดแรงๆ จนเป็นสาเหตุทำให้รากหักได้



รากที่เจริญเติบโตเป็นปกติ  โดยทั่วไปหลังจากที่นำเมล็ดอินทผลัมลงถุงเพาะชำจะใช้เวลาไม่เกิน 20 วันเราจะเริ่มเห็นต้นกล้าอ่อนๆ เริ่มโผล่ขึ้นมารับแสงแดดในตอนเช้าๆ  ในขณะที่รากอินทผลัมที่ล่วงเลยมายี่สิบกว่าวันมีความยาวไม่น้อยกว่า 3 นิ้ว (แนะนำให้ใช้ถุงเพาะชนิดยาวมากกว่า 3.5 นิ้ว) และพร้อมที่จะแทงต้นอ่อนขึ้นมาจากรากอันสวยงามของมัน 



หนึ่งเมล็ดมีสองราก  โอกาสที่จะพบเห็นเมล็ดอินทผลัม 1 เมล็ดมี 2 ราก นับว่าน้อยมากอาจเรียกว่าแทบไม่มีใ้ห้เห็นเลยก็ว่าได้ครับ  ภาพนี้นับว่าเป็นภาพที่หายากมากที่สุดจาก 5,000 เมล็ดพบเพียง 2 เมล็ดเท่านั้นที่งอกมาพร้อมกันสองรากในเมล็ดเดียว  ใครเจอแบบนี้นับว่าโชคดีครับ เพราะคุณจะได้ 2 ต้นในเมล็ดเดียว



รากงอกผิดตำแหน่ง  อันนี้พบเห็นได้ไม่บ่อยเช่นกัน แต่ก็ไม่ยากเท่ากรณีหนึ่งเมล็ดสองราก จาก 1,000 เมล็ดจะพบประมาณ 5 เมล็ดเท่านั้นที่แทงรากออกมาในตำแหน่งหัวหรือท้ายเมล็ด




บทเรียนที่สองอาจจะมีเนื้อหาไม่มาก แต่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับมือใหม่หัดเพาะเมล็ดทั้งหลาย ... วันนี้ตาลายนิดหน่อยครับ ผิด ตก ยกเว้น นะครับ  ยิงฟันยิ้ม  ยิงฟันยิ้ม  ยิงฟันยิ้ม



ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเพาะเมล็ดอินทผลัม



ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://www.kasetporpeang.com

การเพาะเมล็ดอินทผลัม


บทเรียนที่ 1  การเพาะเมล็ดอินทผลัม
เรียบเรียงโดย : ชาวนา™

///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////


  ลักษณะของเมล็ดอินทผลัม  โดยทั่วไปเมล็ดอินทผลัมไม่ว่าพันธุ์อะไรจะมีลักษณะคล้ายกันหมด แตกต่างแค่รูปร่างที่อาจมีเล็ก-ใหญ่, อ้วน-ผอม ต่างกันไปตามแต่ละสายพันธุ์ ดังนั้นการเพาะเมล็ดผมจึงขอเรียกว่า  ด้านหน้าเมล็ด กับ ด้านหลังเมล็ด

1. ด้านหน้าเมล็ด  จะเป็นร่องยาวตั้งแต่หัวจรดท้าย



2. ด้านหลังเมล็ด จะเรียบและโค้งนูน มีจุดกลมๆ เล็กๆ อยู่ตรงกลางเมล็ด (สังเกตุดีๆ จุดนี้บางเมล็ดอาจไม่ชัด) ไว้สำหรับแทงรากก่อนจะเจริญเติบโตเป็นใบและต้น



3. ความแตกต่าง ภาพนี้จะแสดงความแตกต่างระหว่างด้านหน้าและด้านหลังของเมล็ดครับ



4. เยื่อหุ้มเมล็ด  หลังจากรับประทานเนื้ออินทผลัมหมดแล้ว เราจะเห็นว่ามีเยื่อบางๆ สีขาวหุ้มเมล็ดอยู่อีก 1 ชั้น ก่อนจะทำการเพาะเมล็ด ควรล้างเมล็ดให้สะอาด ทั้งความหวาน และเยื่อหุ้มเมล็ดออกให้หมด ด้วยน้ำสะอาด (บางคนใช้ซันไลท์...เปลืองไปหน่อยไม่แนะนำ) ประมาณ 3-4 รอบ  จนกว่าเยื่อหุ้มเมล็ดจะออกทั้งหมด 



5. ผึ่งเมล็ดให้แห้ง  สำหรับผลสดหลังจากล้างเมล็ดและเยื่อหุ้มเมล็ดออกหมดแล้ว ให้นำเมล็ดที่ล้างผึ่งลมให้แห้งประมาณ 2-3 วัน (ไม่แนะนำให้ตากแดด) เพื่อให้เมล็ดมีการพักตัว



6. การอบเมล็ด  นำเมล็ดที่ผึ่งไว้จนแห้ง แ่ช่น้ำสะอาดทิ้งไว้ 2 คืน จากนั้นเทน้ำทิ้งให้หมด นำเมล็ดขณะที่ยังเปียกๆ บรรจุลงในขวดน้ำดื่ม หรือกระปุก หรือขวดโหล แล้วปิดฝาให้สนิทนำไปไว้ในที่ร้อนอบอ้าวนิดนึง เช่น ในรถยนต์   หากอากาศร้อนอบอ้าว เมล็ดจะงอกในเวลาไม่เกิน 3-5 วัน  แต่หากอากาศเย็นเมล็ดจะใช้เวลานานมากในการงอก  ดังนั้นเมื่อเห็นว่าอากาศเย็นไม่แนะนำให้เพาะเมล็ดหรืออบเมล็ดในขวด  เพราะนอกจากเมล็ดจะไม่งอกแล้วยังพาทำให้เมล็ดเน่าได้อีก (เสียดายของ)  แต่ในขณะเดียวกันให้สังเกตุด้วยว่า หากเมล็ดในขวดแห้งเกินไป ควรหยอดน้ำเติมลงไปสักเล็กน้อย แล้วเขย่าให้เมล็ดคลุกน้ำให้ทั่ว  ควรระวังไม่ให้น้ำในขวดท่วมขังเพราะจะทำให้เมล็ดเน่าได้เช่นกัน



7. การงอกของเมล็ด  หลังจากที่เรานำเมล็ดอบไว้ในขวด หากอากาศร้อนอบอ้าวเมล็ดจะใช้เวลางอกไม่เกิน 3-5 วัน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในขณะที่เราทำการอบเมล็ด



8. ภาพแสดงการงอกของเมล็ด  ในการงอกขอเมล็ดนั้น รากสีขาวจะเริ่มแทงออกมาทางด้านหลัง ตรงวงกลมเล็กๆ ก่อนจะค่อยๆ ยาวเหมือนถั่วงอก  แสดงว่าพร้อมสำหรับการนำเมล็ดไปเพาะลงถุงแล้วครับ



9. ขนาดของรากที่พอเหมาะสำหรับการเพาะลงถุงดำ  เนื่องจากรากของอินทผลัมมีความยาวมาก ดังนั้นเราจึงควรรีบเพาะในขณะที่รากยังยาวไม่เกิน 3 ซม. ดีที่สุด เพราะจะทำให้รากกระทบกระเทือนน้อยที่สุด หรือหากปล่อยให้ยาวเกินไปรากอาจจะหัก หรือรากอาจจะเน่าในขวดเสียก่อนครับ  ภาพนี้รากสั้นสามารถเพาะได้แล้วเช่นกัน



10. รากยาว การอบเมล็ดนานเกินไป อาจทำให้รากยาวเกินความจำเป็น ดังนั้นเวลานำออกจากขวดลงถุงเพาะชำ ควรนำออกมาด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจทำให้รากหักได้



11. หลักการเพาะเมล็ดอินทผลัม  ให้ดูจากทิศทางของรากอินทผลัมเป็นหลัก ไม่ต้องสนใจว่าส่วนไหนคือด้านหน้า ส่วนไหนคือด้านหลังเมล็ด เพราะหน่ออินทผลัมจะงอกออกจากราก  ไม่ได้งอกออกทางด้านหน้าของเมล็ด (เมล็ดทำหน้าที่เป็นแหล่งอาหาร) ดังนั้น การทำให้รากหักก็เท่ากับเสียเมล็ดนั้นไปทันที ธรรมชาติของอินทผลัมจะแทงรากลงดินก่อน จากนั้นต้นอ่อนจึงจะแทงขึ้นมาจากรากสีขาวๆ ที่เราเห็นโผล่ออกมาทีแรก  ภาพนี้แสดงให้เห็นการเพาะอินทผลัมโดยที่รากแทงลงขนานไปแนวเดียวกับเมล็ด  รากไปทางไหนเราปักรากให้ลงตรงๆ ได้เลย ไม่ต้องสนใจด้านหน้าด้านหลัง



12. การงอกของเมล็ดอินทผลัม  อย่างที่บอกไปตั้งแต่แรก  ต้นอ่อนของอินทผลัมจะงอกขึ้นมาจากรากที่แทงลงดิน ไม่ได้งอกออกมาจากด้านหน้าของเมล็ดแต่อย่างใด  ดูภาพประกอบ



13. การเพาะเมล็ดอินทผลัม สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการเพาะเมล็ดลงดิน คือ อย่ากดเมล็ดลงให้ลึก ให้วางแบบในภาพนี้ได้เลยครับ ไม่ต้องให้ดินท่วมเมล็ดได้ยิ่งดี



14. การงอกของเมล็ดอินทผลัม  โดยปกติหลังจากที่เราเพาะเมล็ดอินทผลัมลงดิน ด้วยเมล็ดที่ผ่านการอบให้รากงอกออกมาก่อนนั้นจะใช้เวลาไม่เกิน 20 วัน ต้นเล็กๆ จะเริ่มโผล่ขึ้นมาทักทายเราแล้วครับ



15. การเจริญเติบโตของเมล็ดอินทผลัม  เมื่อเวลาผ่านไป 20 วัน หน่ออินทผลัมน้อยๆ เริ่มโผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน แล้วพัฒนาเป็นใบและลำต้นต่อไป  สำหรับเมล็ดอินทผลัมแท้จริงแล้วมันทำหน้าที่เป็นแหล่งอาหารให้ต้นอ่อน ก่อนที่รากจะสามารถดูดอาหารจากดินไปเลี้ยงต้นและใบครับ

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก  http://www.kasetporpeang.com