วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การดูแลเมล็ดในถุงเพาะชำ


บทเรียนที่ 2  การดูแลเมล็ดในถุงเพาะชำ
เรียบเรียงโดย : ชาวนา™

///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////



ห้องเรียนนี้ไม่มีเช็คชื่อนะครับ  ใครขยันอ่านขยันติดตามก็คิดว่าน่าจะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย เพราะผมจะถ่ายทอดจากประสบการณ์จริงที่ลงมือทำเองทั้งหมด ... คิดว่าสมาชิกทุกท่านคงได้ศึกษาบทเรียนที่ 1 กันไปบ้างแล้ว และคิดว่ามีหลายๆ ท่านได้เริ่มลงมือปฏิบัติกันบ้างแล้ว และอาจมีหลายท่านกำลังค้นฟ้าคว้าดาวตามหาเมล็ดพันธุ์แบบพลิกปฐพีเลยก็ว่าได้  ไม่ว่าจะได้เมล็ดพันธุ์อินทผลัมชนิดไหนมาอย่าลืมทำตามบทเรียนที่ 1 นะครับ..



หลังจากที่หยอดเมล็ดลงถุงไปเรียบร้อยแล้ว  การดูแลรักษาเมล็ดพันธุ์มีความสำคัญมาก ในที่นี้จะพูดถึงการรดน้ำ เพราะการให้น้ำในขณะที่เมล็ดยังไม่พัฒนาเป็นลำต้นนั้น ต้องให้ด้วยความระมัดระวัง เพราะการให้น้ำมากเกินไปอาจทำให้เมล็ดที่กำลังมีรากสีขาวๆ นั้นเน่าได้  แต่ถ้าหากให้น้ำน้อยเกินไปจนทำให้ดินในถุงแห้ง ก็จะำทำให้รากแห้งเหี่ยวและตายในที่สุด ในระหว่างนี้ห้ามรดน้ำผสมปุ๋ยหรือให้ปุ๋ยทุกชนิดครับ



การให้น้ำมากเกิน  จนทำให้ดินในถุงเปียกแฉะตลอด 24 ชั่วโมง หรือ ถุงเพาะชำวางไว้กลางแจ้งและโดนฝนมากเกินไป หรือ ถุงเพาะชำไม่ระบายน้ำ (ดินในถุงอาจแน่นเกินไป) ทุกอย่างล้วนต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะหากปล่อยให้น้ำขังในถุงหรือรดน้ำจนดินแฉะตลอดเวลา ก็เป็นสาเหตุทำให้รากอินทผลัมเน่าได้เช่นกัน


กรณีที่วางถุงเพาะชำไว้กลางแจ้ง และโดนฝนตลอด หลังฝนตกให้สำรวจดูว่าในถุงเพาะชำมีน้ำขังหรือไม่ ถุงระบายน้ำได้ดีหรือไม่ หากมีอย่างละเลยนะครับ ให้หาทางระบายน้ำออกจากถุงด้วยการใช้ไม้เสียบลูกชิ้นแทงลงไปในดินให้ทะลุที่ก้นถุง แค่นี้ก็สบายหายห่วงแล้วครับ  แม้ฝนจะตกหนักหรือตกติดต่อกันหลายวัน หากถุงเพาะชำระบายน้ำได้ดีก็หมดปัญหา  แต่ถ้าหากใครที่เพาะไม่มากแนะนำให้นำถุงเพาะชำไว้ในร่มและโดนแดดบ้างวันละ 2-4 ชั่วโมง จะช่วยให้ดินมีความร้อนและส่งผลให้เมล็ดงอกเร็วยิ่งขึ้น

กรณีให้น้ำน้อยจนเกินไป หรืออาจเกิดจากลืมรดน้ำ หรือไม่มีเวลารดน้ำ จนดินในถุงเพาะชำแห้ง  สาเหตุนี้ต้องระวังให้มาก หากไม่มีเวลาอยู่บ้านต้องบอกให้คนที่บ้านคอยรดน้ำให้วันละ 1 ครั้ง ในตอนเช้าก็พอครับ  ไม่ต้องรักมันมากรดน้ำวันละ 3 เวลานะครับ (เช้า-กลางวัน-เย็น) เพราะให้น้ำมากมีผลเสียมากกว่าผลดี



จะรู้ได้อย่างไรว่าให้น้ำในปริมาณที่พอเหมาะ  ให้สังเกตความชุ่มชื้นของดินด้วยสายตาของเราเอง  หากถุงเพาะชำแห้งเกินไปดินจะกลายเป็นผงใช้นิ้วเขี่ยหรือสัมผัสดูจะเห็นว่าดินร่วนจนเป็นผง  แต่ถ้าหากดินเปียกน้ำจนเกินไปนิ้วของเราที่จิ้มลงในถุงเพาะชำก็จะมีคราบน้ำติดมือขึ้นมาด้วย  ดังนั้นการผสมดินจึงควรคำนึงถึงการระบายน้ำให้ดี  อัตราส่วนดินผสมเอง  แกลบดำ 2 ส่วน, ดิน 1/2 ส่วน, ทรายหยาบ 1/2 ส่วน รวมทั้งหมด 3 ส่วน   แต่หากเป็นดินถุงที่ซื้อตามร้านทั่วไป ไม่ต้องผสมครับเพราะส่วนมากมีแต่แกลบดำอยู่แล้ว

ความลึกของการกลบเมล็ด มีผลต่อการงอกของต้นอินทผลัม  การกลบเมล็ดยิ่งลึกยิ่งทำให้การงอกช้าตามไปด้วย แต่ในทางกลับกัน การวางเมล็ดไว้บนผิวดินตื้นๆ ทำให้ต้นอินทผลัมงอกเร็วกว่าหลายเท่าตัว



ตอนปลูกกลบเมล็ดลึกเกินไป งอกช้ากว่าปกติ 5-7 วัน หรือบางทีอาจนานถึง 15 วัน


ตอนปลูกกลบเมล็ดบางๆ รดน้ำนานไปเหลือแต่เมล็ด ต้นงอกเร็ว



ปัญหารากหัก อาจเกิดจากความไม่ตั้งใจ ส่งผลทำให้รากของอินทผลัมหัก นับว่าเป็นปัญหาร้ายแรงที่ทำให้เราเสียเมล็ดนั้นไปเลย  ถึงแม้เราจะเพาะลงดิน แต่โอกาสที่จะงอกเป็นต้นกล้าเล็กๆ น้อยมาก  ดังนั้นควรดูแลเมล็ดขณะอบในขวดตามบทเรียนที่ 1 อย่างระมัดระวังไม่ควรเขย่าขวดแรงๆ จนเป็นสาเหตุทำให้รากหักได้



รากที่เจริญเติบโตเป็นปกติ  โดยทั่วไปหลังจากที่นำเมล็ดอินทผลัมลงถุงเพาะชำจะใช้เวลาไม่เกิน 20 วันเราจะเริ่มเห็นต้นกล้าอ่อนๆ เริ่มโผล่ขึ้นมารับแสงแดดในตอนเช้าๆ  ในขณะที่รากอินทผลัมที่ล่วงเลยมายี่สิบกว่าวันมีความยาวไม่น้อยกว่า 3 นิ้ว (แนะนำให้ใช้ถุงเพาะชนิดยาวมากกว่า 3.5 นิ้ว) และพร้อมที่จะแทงต้นอ่อนขึ้นมาจากรากอันสวยงามของมัน 



หนึ่งเมล็ดมีสองราก  โอกาสที่จะพบเห็นเมล็ดอินทผลัม 1 เมล็ดมี 2 ราก นับว่าน้อยมากอาจเรียกว่าแทบไม่มีใ้ห้เห็นเลยก็ว่าได้ครับ  ภาพนี้นับว่าเป็นภาพที่หายากมากที่สุดจาก 5,000 เมล็ดพบเพียง 2 เมล็ดเท่านั้นที่งอกมาพร้อมกันสองรากในเมล็ดเดียว  ใครเจอแบบนี้นับว่าโชคดีครับ เพราะคุณจะได้ 2 ต้นในเมล็ดเดียว



รากงอกผิดตำแหน่ง  อันนี้พบเห็นได้ไม่บ่อยเช่นกัน แต่ก็ไม่ยากเท่ากรณีหนึ่งเมล็ดสองราก จาก 1,000 เมล็ดจะพบประมาณ 5 เมล็ดเท่านั้นที่แทงรากออกมาในตำแหน่งหัวหรือท้ายเมล็ด




บทเรียนที่สองอาจจะมีเนื้อหาไม่มาก แต่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับมือใหม่หัดเพาะเมล็ดทั้งหลาย ... วันนี้ตาลายนิดหน่อยครับ ผิด ตก ยกเว้น นะครับ  ยิงฟันยิ้ม  ยิงฟันยิ้ม  ยิงฟันยิ้ม



ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเพาะเมล็ดอินทผลัม



ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://www.kasetporpeang.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น