วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การย้ายต้นกล้าอินทผลัม (เปลี่ยนถุงดำ)


บทเรียนที่ 4  การย้ายต้นกล้าอินทผลัม (เปลี่ยนถุงดำ)
เรียบเรียงโดย : ชาวนา™

///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////


ในบทเรียนนี้จะขอนำเสนอการขั้นตอนและวิธีการเปลี่ยนถุงดำให้กับต้นกล้าอินทผลัม แต่ภาพที่นำเสนอนี้เป็นการเปลี่ยนถุงดำให้กับต้นกล้าที่ผมคัดเป็นพิเศษครับ (ต้นที่คาดว่าเป็นตัวเมีย) แน่นอนว่าเมื่อตอนที่ยังเล็กๆ เราอาจใช้ถุงที่มีขนาดเล็ก หรือบางคนอาจจะใช้ถุงใหญ่ก็ตาม  แต่สิ่งหนึ่งที่ควรเรียนรู้ก็คือระบบรากของอินทผลัม และคุณภาพของดินที่นำมาใช้ในการเพาะต้นกล้าอินทผลัม

มาทำความเข้าใจเรื่องดินกันสักนิดครับ  หลังจากที่ได้เพาะอินทผลัมมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 เดือน  ดินที่เราใช้ผสมโดยทั่วไปมักจะนำเอาดินร่วน หรือดินที่คิดว่ามีความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหาร หรือนำเอาดินที่ดีที่สุดมาเพาะอินทผลัม  หรือแม้กระทั่งบางคนอาจจะนำเอาปุ๋ยหมัก และมูลสัตว์ผสมลงในดินด้วย  วิธีนี้ผมมองว่าอันตรายที่สุด  เพราะจะเป็นแหล่งเพาะบ่มเชื้อโรคหลายชนิดให้กับดินที่ใช้เพาะต้นกล้าอินทผลัม

แล้วดินอะไรล่ะ ที่น่าจะนำมาใช้ในการเพาะอินทผลัมได้ดีที่สุด  ผมเองก็ลืมคิดไปว่า  จริงๆ แล้วอินทผลัมเกิดจากทะเลทราย  ดินทั้งหมดล้วนเป็นทราย  ดังนั้นดินที่เหมาะสำหรับการเพาะเมล็ดอินทผลัมจึงควรใช้ทรายหยาบ หรือทรายที่ใช้ในงานก่อสร้างกันครับ  เพราะนอกจากจะสะอาดแล้วยังคิดว่าน่าจะปลอดภัยจากเชื้อโรคมากที่สุด และทรายยังมีคุณสมบัติระบายน้ำได้ดี แต่เก็บความชื้นไว้เพียงพอและเหมาะสมกับอินทผลัม

ดังนั้น  ในบทเรียนนี้ผมจึงเลือกใช้ทรายหยาบที่ใช้ในงานก่อสร้าง  และแกลบดำ ที่มีซิลิก้าอยู่ค่อนข้างมาก  อีกส่วนหนึ่งคือ ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด  (ไม่แนะนำปุ๋ยคอก, ปุ๋ยหมัก)  อัตราส่วน 1:1:0.1 (ทราย,แกลบดำ,ปุ๋ยอินทรีย์)   มาเริ่มกันเลยครับ  ในภาพนี้ผมใช้ทราย 10 ถัง, แกลบดำ 10 ถัง  และปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด 1 ถัง





เมื่อเตรียมส่วนผสมทุกอย่างแล้ว  เราก็คลุกเคล้าดินให้เข้ากันครับ  โดยรดน้ำบ้างพอดินชุ่มไม่ต้องให้เปียกนะครับเดี๋ยวจะกรอกดินลงถุงลำบาก...



จากนั้นผมก็คัดเลือกต้นกล้าที่คาดว่าจะเป็นต้นตัวเมีย  มาทำการแปลงร่างเปลี่ยนถุงให้ใหม่ครับ  ในภาพนี้ใบจะอวบอ้วน  โคนต้นมีขนาดอวบใหญ่กว่าอินทผลัมทั่วๆ ไปในวัยเดียวกัน 




////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////


มาดูวิธีถอดถุงดำออกจากต้นกล้ากันดีกว่าครับ  ถุงดำนั้นมีราคาแพงบางจังหวัด กิโลกรัมละ 60-80 บาท  แต่ผมซื้อได้ราคา 45-50 บาท/กิโลกรัม  ดังนั้นเราจะไม่ยอมเสียถุงดำเด็ดขาด  ไม่ต้องฉีก ไม่ต้องตัด  ขั้นแรกให้คว่ำถุงดำลงฝ่ามือ  โดยให้ต้นกล้าแทรกระหว่างนิ้วมือ  จากนั้นใช้มือบีบรอบๆ ถุงดำเบาๆ  เพื่อให้ดินด้านในหลวม  แต่ต้นกล้าอายุ 3-4 เดือนให้ระวังรากด้านในนะครับ  เพราะเขากำลังมีรากอ่อนๆ สีขาว 2-3 ราก เหมือนเส้นเลือดใหญ่เลยครับ  ระวังให้มากๆ



จากนั้นค่อยๆ ดึงถุงดำขึ้นครับ  มือประกองดินในถุงให้ดี อย่าให้ร่วงซะก่อน...



อีกเรื่องนึง  ก่อนที่จะเปลี่ยนถุงดำ ให้รดน้ำทิ้งไว้ก่อนสัก 1 ชั่วโมงนะครับ  ดินในถุงจะได้ไม่แห้ง  เวลาถอดถุงออกแบบนี้ดินจะไม่แตกครับ  รากก็จะไม่กระทบกระเทือนมาก



รากขนาดใหญ่สีขาว 2 เส้น เปรียบเหมือนเส้นเลือดใหญ่ ทั้งเปราะบางและอ่อนแอ  แต่พร้อมที่จะเติบโตแล้วครับ  ขั้นตอนบีบถุงที่บอกให้ระวังก็เพราะเหตุนี้นี่เอง...



///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////


ก่อนหน้านั้นต้องกรอกดินใส่ถุงเตรียมไว้  โดยเติมดินลงถุงที่ต้องการเปลี่ยนประมาณ 25% ของถุงครับ  เหตุผลเพราะเราต้องการให้มีดินที่ก้นถุงรองรับรากอินทผลัมที่เป็นเส้นเลือดใหญ่  หรือเพื่อต้องการให้มีพื้นที่ให้รากอินทผลัมหาอาหารครับ  เพราะรากทั้งหมดจะหากินที่ก้นถุงครับ




จากนั้นนำต้นอินทผลัมที่เราดึงถุงดำออก  ไปวางใส่ถุงที่เตรียมไว้  โดยตั้งให้ต้นอินทผลัมอยู่ที่จุดกึ่งกลางนะครับ  สังเกตุว่าดินจะยังไม่แตกตัว  เพราะความชุ่่มของน้ำทำให้ดินจับตัวเ็ป็นก้อน



เสร็จแล้วให้เราใช้มือบี้ดินจากถุงเดิมที่ย้ายลงไป ให้แตกไปเลยครับ ไม่ต้องกลัวว่าจะกระทบกระเทือนรากอินทผลัม  เพราะอย่างที่บอกรากอินทผลัมจะหากินที่ด้านล่างของก้นถุง  ส่วนนี้จึงไ่ม่มีรากอินทผลัมจึงไม่ต้องระวัง  อีกอย่างการทำแบบนี้จะเป็นการเปิดให้เห็นโคนต้นอินทผลัม  เราจำต้องให้ส่วนนี้โผล่ดินขึ้นมาเพื่อไม่ให้ดินรัดโคนต้น  ต้นจะได้ขยายเร็วขึ้น  จะเห็นว่าโคนต้นส่วนที่เคยอยู่ในดินจะเป็นสีขาว  ส่วนที่โผล่เหนือดินจะเป็นสีเขียว ในขั้นตอนนี้ดินในถุงจะเพิ่มขึ้นเป็น 70%




จากนั้นจึงนำดินที่ผสมไว้มาโรยกลบด้านบนอีกรอบ  โดยให้เหลือขอบถุงดำไว้สัก 2.5-3 ซม. นะครับ เพื่อเวลารดน้ำจะได้ไม่กระเด็นออกหมดซะก่อน  อีกอย่างไม่ต้องกลัวน้ำจะขับเพราะทรายกับแกลบดำจะไม่เก็บน้ำครับ  เหลือแต่ความชุ่่มชื้นเท่านั้น




โคนต้นจะโผล่ขึ้นมาเล็กน้อยครับ  เพื่อให้ต้นอินทผลัมเริ่มขยายสะโพก ดินไม่รัดจนเกินไป



เสร็จเรียบร้อยแล้วครับ  สาวน้อยในชุดใหม่  ยิงฟันยิ้ม



ผมตั้งใจจะแยกพันธุ์คาลาสไว้ 200 ต้นครับ  (เห็นด้านหลังไกลลิบๆ นั่นคือผักหวานบ้าน)



บทเีรียนนี้ตั้งใจมอบให้เป็นความสุขเนื่องในโอกาสปีใหม่  และขออวยพรให้ทุกท่านที่อ่านบทเรียนนี้จงพบแต่ความโชคดี สุข สมหวัง ดังปรารถนาทุกประการครับ





ขอบคุณข้อมูลดีๆจากhttp://www.kasetporpeang.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น